no.13_orkhaikheluuedkepncham_aidcchringhruue_aw.jpg

ใครที่ติดตามข่าวช่วงนี้คงตกใจตาม ๆ กัน เมื่อเห็นตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่ทะลุขึ้นไปถึงหลักหมื่น!! ดูน่ากลัวสูสีกับโควิด-19 เลยว่าไหมคะ จริง ๆ ไข้เลือดออกเป็นโรคที่รักษาได้ แต่ถ้าเคยเป็นแล้วรักษาหายก็อย่าชะล่าใจนะคะ เพราะเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้มีตั้ง 4 สายพันธุ์เลยทีเดียว หลังจากร่างกายได้รับเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งไปแล้ว ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้น คนที่เคยเป็นไข้เลือดออก เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์อื่นที่ยังไม่เคยเป็น จึงเป็นซ้ำได้อีกค่ะ เอาละสิ หลายคนคงมีคำถามผุดขึ้นมารัว ๆ งั้นเรามาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคนี้กันดีกว่าค่ะ
เมื่อเป็นไข้เลือดออกซ้ำ จะมีอาการหนักกว่าเดิมไหม?
ถ้าหากติดเชื้ออีกครั้ง ภูมิคุ้มกันร่างกายจะสับสนระหว่างเชื้อตัวใหม่กับเชื้อตัวเก่า จนทำงานได้ไม่ดี ต่อสู้กับเชื้อตัวใหม่ที่เข้ามาไม่ทันเวลา ทำให้การติดเชื้อยิ่งรุนแรงขึ้นจนอาการทรุดหนักหรือเกิดภาวะช็อกได้ค่ะ
ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้เป็นไข้เลือดออกซ้ำ?
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ แต่การแก้ไขที่ต้นเหตุเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลดีที่สุดค่ะ เช่น ทาโลชั่นหรือยากันยุง สวมเสื้อแขนยาวกางเกงขายาว หลีกเลี่ยงบริเวณที่มียุงชุมหรือมีน้ำขัง กำจัดน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ ติดตั้งมุ้งลวดในที่พักอาศัย หรือปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อกันยุงเข้าบ้าน
no.13_orkhaikheluuedkepncham_aidcchringhruue_pic.jpg

คนจำนวนไม่น้อยยังสับสนระหว่างอาการของไข้เลือดออกกับไข้ชนิดอื่น ๆ จนอาจรับมือกับโรคนี้ไม่ทัน และนำไปสู่อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรคไข้เลือดออก เราจึงมีวิธีสังเกตโรคแบบง่าย ๆ มาฝากดังนี้ค่ะ
- อาการเริ่มแรกมักคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา ถ้ามีไข้สูงติดต่อกันเกิน 3 วัน พร้อมกับมีอาการอ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย คลื่นไส้อาเจียน แต่ไม่ไอไม่มีน้ำมูก ควรสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก สิ่งแรกที่ควรทำคือ กินยาพาราเซตามอลทุก ๆ 4 - 6 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟนเด็ดขาด เพราะตัวยามีฤทธิ์ทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ มีเลือดออกง่ายขึ้น อาการเลือดออกผิดปกติจะเริ่มในช่วง 2 - 5 วันหลังจากมีไข้ เช่น มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำมีเลือดปน
- ถ้ามีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวเย็น กระหายน้ำตลอดเวลา เหงื่อออกช่วงที่ไข้ลด สีผิวคล้ำลง มีผื่นแดงขึ้นบริเวณใบหน้าแขนขาลำตัว และมีความดันเลือดต่ำแล้วละก็ นี่คือสัญญาณอันตรายของโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ถึงแม้จะมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก แต่การกำจัดยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคก็ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะนอกจากจะป้องกันโรคไข้เลือดออกได้แล้ว ยังช่วยลดการเกิดโรคอื่น ๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะอีกด้วย เช่น โรคไข้ซิก้า โรคชิคุนกุนยา อย่าลืมนะคะ! ยิ่งกำจัดยุงลายมากเท่าไหร่ เรายิ่งปลอดภัยค่ะ
เรียบเรียงโดย
พญ.ปรารถนา ปันทะ
นายแพทย์ชำนาญการ