Skip to main content
Search
Search

ห่างไกลโรคกรดไหลย้อน

no.45_haangaiklorkhkrdaihlynaw.jpg

 

 

เคยมีอาการแบบนี้กันไหมคะ หลังกินอาหารทีไรรู้สึกคลื่นไส้ พะอืดพะอม จุกแน่นหน้าอก ถ้าคำตอบคือใช่! ขอบอกเลยว่าคุณกำลังเป็นกรดไหลย้อนแล้วละค่ะ กรดไหลย้อนเป็นโรคฮิตอย่างหนึ่งของคนกรุงที่ชีวิตเจอแต่ความเครียด ต้องทำอะไรเร่ง ๆ รีบ ๆ และกินอาหารไม่ค่อยสมดุล โรคนี้ดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่ก็มีผลต่อสุขภาพระยะยาวนะคะ ถ้าเรารู้ตัวว่าเริ่มมีสัญญาณของโรคเกิดขึ้น แล้วรีบรักษาและหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง ก็จะมีโอกาสหายได้ค่ะ

โรคกรดไหลย้อนเกิดจากอะไร?
กรดไหลย้อน (Gestroesophangeal Reflux Disease : GERD) เป็นภาวะที่กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร กล่องเสียง และช่องคอ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค หลัก ๆ คือพฤติกรรมการกินค่ะ และอาจรวมถึงภาวะผิดปกติบางอย่างในร่างกายด้วย
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เราเป็นกรดไหลย้อนมีสารพัด ได้แก่ กินอิ่มมากไป หรือกินอาหารมื้อใหญ่อย่างเช่นบุฟเฟต์ จะกระตุ้นให้กรดหลั่งออกมามากและหูรูดคลายตัวมากขึ้น เนื่องจากกระเพาะอาหารขยายตัว ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน กินอาหารมื้อดึก หรือกินอิ่มแล้วรีบเอนกายนอน กินอาหารมัน ๆ หรืออาหารรสจัด สวมเสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดแน่น จนไปเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ทำให้กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารบีบตัวผิดปกติ กระเพาะอาหารเลื่อนเข้าไปในหลอดอาหารหรือกะบังลม กล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอดอาหารหย่อนสมรรถภาพ เป็นโรคหืด อาการไอและหอบไปเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การใช้ยาบางชนิดทำให้อาหารเคลื่อนลงสู่ลำไส้ช้าลง ทำให้มีกรดไหลย้อน สูบบุหรี่ น้ำหนักเกิน เป็นโรคเบาหวาน ความเครียดรุมเร้า กำลังตั้งครรภ์

อาการยอดฮิตของโรคกรดไหลย้อน

  • ปวดแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือลำคอ หลังกินอาหารมื้อหนัก เวลายกของหนัก นอนราบ โค้งตัวลงต่ำ รัดเข็มขัดหรือใส่กางเกงแน่น ๆ โดยมีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และจะเป็น ๆ หาย ๆ แต่ละครั้งมักปวดนาน 2 ชั่วโมง
  • เรอมีกลิ่นเปรี้ยว เพราะมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
  • คลื่นไส้ เรอบ่อย จุกแน่นยอดอก หายใจมีกลิ่น
  • ไอแห้ง ๆ โดยเฉพาะหลังกินอาหาร หรืออยู่ในท่านอนราบ
  • กลืนลำบาก หรือเจ็บหน้าอกเวลากลืน
  • ขมคอ เปรี้ยวปาก เสียงแหบ เจ็บคอ แสบลิ้น หรือไอ ตอนตื่นนอน

 

 

no.45_haangaiklorkhkrdaihlyn.jpg

 

 

อยากหายเสียที ทำตามนี้เลย!

  • หลีกเลี่ยงบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน อาหารรสจัด อาหารมัน ๆ อาหารหมักดอง และผลไม้ที่มีกรดมาก
  • กินอาหารน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง และไม่ยกของหนักหรือออกกำลังกายหลังกินอาหาร
  • กินมื้อเย็นปริมาณน้อย และทิ้งช่วงห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมาก ๆ ระหว่างกินอาหาร
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
  • ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปเกินไป
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด
  • นอนตะแคงซ้าย และหนุนหมอนให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว
  • กินยาให้ครบถ้วนและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์

การรักษาโรคกรดไหลย้อน
แพทย์จะรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรค โดยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้ยาลดกรดหรือยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เป็นเวลา 6 - 8 สัปดาห์ ถ้าเป็นมากหรือมีอาการมานาน อาจให้นาน 3 - 6 เดือน ซึ่งร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมักควบคุมอาการได้ด้วยยา แต่ถ้าหากกินยาไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจรักษาด้วยการส่องกล้องหรือผ่าตัดแทนค่ะ

แม้กรดไหลย้อนจะไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต แต่ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปล่อยให้อาการลุกลามและเรื้อรัง อาจทำให้เป็นโรคกล่องเสียงอักเสบ ริดสีดวงเส้นเสียง มะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งหลอดอาหารตามมาได้ค่ะ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรค จึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดที่ทำให้เราห่างไกลจากกรดไหลย้อนค่ะ

บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ