ty_tumbnail_column-headline-8.jpg

อากาศประเทศไทยช่วงนี้ คาดเดาอะไรไม่ได้เอาซะเลย เดี๋ยวร้อนจัด เดี๋ยวสักพักฝนตก บางทีก็หนาวขึ้นมาแปบนึง แล้วอีกวันก็ลมแรง แล้ววนกลับมาร้อนอีก ลูกบ้านไหนป่วยง่าย ระวังไข้มาเยือนไม่ทันตั้งตัว
นานา เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และ เพราะต้องดูแลลูกตัวคนเดียว เธอจึงต้องเตรียมพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ อย่างนี้ ลูกชายอายุ 1 ขวบครึ่ง อาจมีอาการตัวรุม ๆ ได้ทุกเมื่อ คุณแม่ต้องตั้งสติไว้ และ ลดไข้ด่วน ด้วยวิธีที่ถูกต้องเท่านั้น! เพราะหากทำไม่ถูกวิธี ลูกอาจจะชักเพราะไข้สูงได้
คืนนี้ ก็เป็นอีกคืนที่เจ้าตัวเล็กมีไข้สูงมาก เกือบ 39 องศา คุณแม่นานา รีบตั้งสติ และ รับมือทันควัน! ทำอย่างไรบ้าง ตามมาอ่านกันเลยค่ะ
ty_content_column-8.jpg

1. ให้ยาพาราเซตามอลลดไข้
นานาป้อนยาน้ำไทลินอลลดไข้ให้ลูก โดยคำนวณตามน้ำหนักตัวลูกแบบเป๊ะๆ ซึ่งสำหรับยาพาราเซตามอนแบบน้ำ จะใช้วิธีการคำนวณปริมาณยาที่ต้องป้อนให้ได้ประมาณ 10 – 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเด็ก (กิโลกรัม) โดยให้ 4 – 6 ชั่วโมง
2. เช็ดตัวลูกเพื่อลดไข้
โดยการเตรียมน้ำอุ่น 27- 37 องศาเซลเซียส และ พื้นที่สำหรับเช็ดตัวให้พร้อม ถอดเสื้อผ้าลูกออก แล้วใช้ผ้าผืนเล็กชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาด เริ่มเช็ดบริเวณหน้า ต่อด้วยเช็ดแขน และ ขาทั้ง 2 ข้าง โดยเช็ดจากปลายมือ-ปลายเท้า เข้าสู่ลำตัว (เช็ดแบบย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน) จากนั้นเช็ดหน้าผาก และ ศีรษะ แล้วพักผ้าไว้บริเวณศีรษะ ซอกคอ ซอกรักแร้ ขาหนีบ เพื่อระบายความร้อน จากนั้นเช็ดลำตัวด้านหน้า พลิกตัวให้นอนตะแคงแล้วเช็ดตัวด้านหลัง หลังจากเช็ดตัวเสร็จ ควรซับตัวให้แห้ง สวมใส่เสื้อผ้าเบาสบาย หลังจากเช็ดตัว 15 นาที คุณแม่ควรวัดไข้ หากไข้ลด แปลว่าการเช็ดตัวได้ผล
3. ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ
เพื่อให้น้ำช่วยปรับสมดุลร่างกาย และ ชดเชยน้ำที่สูญเสียไปในขณะที่มีไข้
4. ให้ลูกพักผ่อนในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก
อุณหภูมิในห้องไม่ควรร้อนหรือหนาวเกินไป เพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนได้ดีขึ้น
หากไข้ยังไม่ลด ลูกอาจมีอาการชักได้ คือ ตาค้าง ไม่รู้สึกตัว ชักทั้งตัว หรือชักกระตุกเกร็งทั้งตัว ชักระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 5 นาที ซึ่งสิ่งแรกที่คุณหมอแนะนำให้คุณแม่นานาปฏิบัติเมื่อลูกมีอาการชักจากไข้สูง คือ จับลูกให้นอนตะแคงบนพื้นราบที่นุ่ม ไม่มีของแข็งกระทบ หรือ เสี่ยงตกจากที่สูง ถ้ามีเศษอาหารติดในช่องปากให้ล้วงออก เพื่อป้องกันทางเดินหายใจอุดตันขณะชัก และ รีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างเร่งด่วน
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติเด็ดขาด คือ ไม่ควรเขย่าตัวให้เด็กตื่นจากการชัก เพราะจะทำให้เด็กชักมากขึ้น หรือ บาดเจ็บจากการเขย่าตัว ไม่ใช้ช้อน หรือ ของแข็งงัดเข้าไปในปากลูก เพื่อป้องกันการกัดลิ้นตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อช่องปาก และ ฟัน หรือ ทำให้ฟันหลุดไปอุดหลอดลมได้ ไม่ป้อนยาหรืออะไรก็ตามระหว่างที่ชัก เพราะเสี่ยงต่อการสำลัก
อากาศเปลี่ยนบ่อย ลูกอาจป่วยได้ อย่าลืมตั้งสติ และ เตรียมอ่านข้อมูลตั้งรับไว้ จะได้รับมือได้ทุกสถานการณ์ไข้ของคุณลูก เหมือนคุณแม่นานานะคะ
ตรวจสอบเนื้อหาโดย
พญ.ปรารถนา ปันทะ
นายแพทย์ชำนาญการ
ข้อมูลอ้างอิง