no.42_orkhthiimaakabkhwaamekhriiydaw.jpg

คงจะดีนะคะถ้าเราได้ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ทำอะไรค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบ จะได้ถอยห่างจากความเครียดเสียบ้าง เพราะทุกวันนี้มีแต่เหตุการณ์และความเร่งด่วนมากมาย ที่กระตุ้นให้คนเราเครียดง่ายกันเหลือเกิน ความเครียดนั้นถ้าอยู่ในระดับที่พอดี อาจช่วยให้เราตื่นตัว ได้คิด ได้แก้ไขปัญหา ได้ตื่นเต้นท้าทายไปอีกแบบ แต่หากมีมากเกินไปก็คงไม่ดีต่อสุขภาพแน่ ๆ ค่ะ เพราะมันจะนำสารพัดโรคมาให้โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว
ความเครียด วายร้ายที่บั่นทอนร่างกายให้แย่ลง
เมื่อความเครียดสะสมเรื้อรัง ไม่ได้รับการผ่อนคลาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ฮอร์โมนความเครียด 2 ตัวนี้แหละค่ะที่จะนำเราไปสู่โรคและอาการต่าง ๆ อย่างเช่น ขี้หลงขี้ลืม มีสมาธิน้อยลง ความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ จะลดลง อารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อาจทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตัวเอง หรือตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เป็นโรคซึมเศร้า ปลีกตัวออกจากสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง ปวดหัวไมเกรน มีอาการปวดคอและไหล่ร่วมด้วย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ความดันสูง ไขมันอุดตันหลอดเลือด มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เซลล์ในร่างกายแบ่งตัวผิดปกติ จนเจริญเติบโตเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง เป็นโรคลำไส้อักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กินอาหารมากกว่าปกติ ทำให้น้ำหนักเพิ่ม อ้วนลงพุง เป็นโรคกรดไหลย้อน หรือไม่ก็น้ำหนักลดเนื่องจากเบื่ออาหาร ผมร่วง ผิวพรรณหมองคล้ำ เกิดริ้วรอยก่อนวัย ฮอร์โมนเพศลดลง ทำให้ความต้องการทางเพศลดตามไปด้วย มีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนทั่วไป ทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบหรือติดเชื้อได้ง่าย นอนไม่หลับ คิดฟุ้งซ่าน เนื่องจากสมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ทำงานได้ไม่เต็มที่
no.42_orkhthiimaakabkhwaamekhriiydjpg.jpg

โรคเครียดอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาเหมือนโรคอื่น ๆ นะคะ แค่ลองทำตามวิธีง่าย ๆ ต่อไปนี้ก็ช่วยให้คลายเครียดได้ไม่ยากเลยค่ะ
- ออกกำลังกายทุกวัน เพราะหลังออกกำลังกายไปสักพัก ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟีน (Endorphin) หรือเรียกว่า “ฮอร์โมนความสุข” ออกมา
- กินอาหารที่ช่วยลดความเครียด เช่น กล้วย ส้ม ฝรั่ง นม ช็อกโกแลต น้ำขิง ถั่วเปลือกแข็ง ปลาทะเล
- ทำสมาธิ จิตใจจดจ่ออยู่แต่ลมหายใจเข้าออก ทำให้ไม่คิดฟุ้งซ่านหรือวิตกกังวล
- ฝึกหายใจเข้าออกช้า ๆ ลึก ๆ จะได้สูดอากาศเข้าปอดมากขึ้น ควบคุมให้หัวใจเต้นช้าลง ทำให้สมองแจ่มใส
- อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง หรือทํางานอดิเรกที่ชอบ จะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนให้เป็นเวลา
- ฝึกคิดบวก สร้างอารมณ์ขัน มองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น
- พูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ไม่เก็บงำปัญหาไว้คนเดียว
บางทีการเครียดมาก ๆ ไม่ได้ระบายผ่อนคลายอย่างถูกวิธี พอเจอปัญหาขึ้นมา ถึงแม้จะเล็กน้อยก็คิดไม่ตก หาทางออกไม่เจอ ยิ่งทำให้เครียดหนักเข้าไปใหญ่ ฉะนั้นการปรึกษาจิตแพทย์จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ เพราะคำแนะนำหลาย ๆ อย่างอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าปัญหา
ที่เกิดขึ้นนั้น มันก็แค่เส้นผมบังภูเขาดี ๆ นี่เอง
บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ