Skip to main content
Search
Search

วัคซีนโควิด-19 ดียังไง ทำไมเราถึงต้องฉีด?

cover.jpg

 

 

อย่างที่เรารู้กันว่าโควิด-19 เป็นเชื้อที่แพร่ระบาดรวดเร็วในวงกว้าง ถ้าหากรักษาไม่ทันจะทำให้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ในเวลาไม่นาน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องยาวนานอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ท้าทายให้บรรดานักวิจัยต้องเร่งพัฒนาวัคซีนขึ้นมารับมือ เพื่อให้มวลมนุษยชาติกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติอีกครั้ง สามารถเดินชอปปิ้งชิล ๆ ไปทำงาน ไปโรงเรียน ไปเฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่นได้แบบไร้กังวล นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 นั่นเองค่ะ

วัคซีนโควิด-19 ช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อและการแพร่ระบาดมีแนวโน้มลดลง

การฉีดวัคซีนถือเป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูงมากในทางการแพทย์ ถึงแม้ประสิทธิภาพจะยังไม่ถึง 100% ซึ่งทำให้คนที่ฉีดไปแล้วสามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ก็ตาม (กรณีนี้อาจเป็นเพราะติดเชื้อก่อนที่วัคซีนจะออกฤทธิ์ เนื่องจากหลังฉีดวัคซีนแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต้องใช้เวลาสักระยะ อย่างน้อย 14 วัน เพื่อตอบสนองต่อวัคซีน ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากวัคซีน ช่วยให้เราปลอดภัยจากความรุนแรงของโรคได้ราว 6 เดือน หรืออาจมากกว่านั้นเล็กน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคนด้วย หลังจากนั้นภูมิคุ้มกันนี้ก็จะค่อย ๆ ลดลง การฉีดครั้งเดียวจึงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นซ้ำ เพราะเชื้อโควิด-19 มีระยะฟักตัวสั้น เราจะป้องกันได้ดีต้องอาศัยภูมิคุ้มกันที่สูงอยู่ตลอดเวลา) แต่หลังจากมีการนำวัคซีนโควิด-19 ไปใช้จริงในทั่วโลก หลายประเทศก็สามารถควบคุมการระบาดได้ และจำนวนผู้ป่วยเริ่มมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเมื่อคนส่วนมากในแต่ละพื้นที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จะทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ยากขึ้น เพราะจำนวนคนที่มีโอกาสติดเชื้อน้อยเกินไป ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงไม่ใช่แค่ป้องกันตัวเองเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันคนอื่น ๆ ในสังคมอีกด้วย

คนที่มีโรคประจำตัว ยิ่งต้องฉีดวัคซีนโควิด-19

สถิติทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต มักมีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรค เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคอ้วน โรคตับ โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปด้วย เพราะโรคประจำตัวนั้นก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย และมีอาการรุนแรงมากกว่าปกตินั่นเองค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่มีอาการป่วยดังกล่าวควรเข้าปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัย

 

 

photo.jpg

 

 

ปัจจุบันพบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ติดเชื้อโควิด-19 ในสัดส่วนที่สูงขึ้นแม้ว่าจะไม่มีการเปิดเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ติดจากคนในครอบครัวและการเดินทางสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ ทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจึงมีคำแนะนำให้เด็กอายุมากกว่า 16 ปี และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคโควิด-19 รุนแรง สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ โดยเลือกใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเด็กจะฉีดวัคซีนหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และการพิจารณาของแพทย์

แต่ทั้งนี้ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 12 สัปดาห์ และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีนะคะ เพราะวัคซีนถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างเร่งรีบ จึงยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงผลที่จะเกิดกับเด็ก ฉะนั้นเราต้องรอผลวิจัยยืนยันความปลอดภัยต่อเด็กให้มากกว่านี้ก่อนถึงจะนำมาฉีดได้ค่ะ นอกจากนี้การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและอัตราตายต่ำมาก ทางการแพทย์จึงจัดให้เด็กเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับวัคซีน

สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอาจมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย ที่พบบ่อยได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้ รู้สึกหนาว เมื่อมีอาการเหล่านี้ ให้กินยาแก้ปวด ลดไข้ พาราเซตามอล ขนาด 500 มก. ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4 - 6 ชั่วโมง ตามขนาดยาแนะนำและน้ำหนักตัวที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติอย่างอื่นและไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ

สำหรับใครที่กำลังรอคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก ไม่ต้องเครียดหรือวิตกกังวลนะคะ แค่ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด พักผ่อนให้เพียงพอ และนึกถึงประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนเข้าไว้ค่ะ แต่ถ้าหากใครยังมีความกังวลใจอยู่ละก็สามารถปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดได้เลยค่ะ หลังจากฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ต้องไม่ประมาท เพราะประชากรไทยส่วนมากยังรับวัคซีนไม่ทั่วถึง เราอาจติดเชื้อได้ตลอดเวลา ดังนั้นอย่าลืมใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ให้สม่ำเสมอกันด้วยนะคะ

ตรวจโดย
พญ.ปรารถนา ปันทะ
นายแพทย์ชำนาญการ

แหล่งอ้างอิง

https://mahidol.ac.th/documents/vaccine-covid19.pdf

https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2021/20210316-covid19-vaccine-handbook.pdf

http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=1368