Skip to main content
Search
Search

วิธีรับมือเด็กสมาธิสั้น

header_website.png

no.34_withiirabmuueedksmaathisan_aw.jpg

 

ความซุกซนนั้นเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคน เพราะเขาเป็นวัยที่ขี้สงสัย อยากลองอยากรู้ อยากเล่นสนุกตลอดเวลา แม้บางครั้งจะทำให้เราถึงขั้นต้องกุมขมับก็ตาม แต่ถ้าหากความซนมีมากเกินจนอยู่นิ่งไม่ได้เลย คุณพ่อคุณแม่คงต้องเอะใจบ้างนะคะว่า ลูกของเราเข้าข่ายเป็นโรคสมาธิสั้นหรือเปล่า โรคนี้ไม่ร้ายแรงแต่ก็ส่งผลกระทบต่อเด็กหลายด้านค่ะ ซึ่งถ้าคนในครอบครัวไม่รู้ว่าเด็กกำลังเป็นโรคนี้อยู่ แล้วเลือกใช้วิธีดุด่า ตบตี ตำหนิ จะทำให้เด็กยิ่งก้าวร้าวรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการทำความเข้าใจและช่วยเหลืออย่างถูกต้อง จะทำให้เขา
มีสมาธิดีขึ้น สามารถควบคุมตัวเองได้ค่ะ

 

โรคสมาธิสั้นเกิดจากอะไร?

โรคสมาธิสั้นเกิดจากสารโดปามีน (dopamine) และนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) ที่เป็นสารสื่อประสาทในสมอง เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ การสร้างสมาธิ ทำงานน้อยกว่าปกติ รวมถึงการทำงานผิดปกติของสมองส่วนหน้าด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กสมาธิสั้น ซึ่งได้แก่ แม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือใช้สารเสพติด ระหว่างตั้งครรภ์ คลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติ พ่อแม่มีประวัติเป็นสมาธิสั้น สามารถถ่ายทอดพันธุกรรมให้ลูกได้โดยตรง การเลี้ยงดูที่ขาดระเบียบวินัย ตามใจเด็กตลอดเวลา พ่อแม่มีความเห็นในการเลี้ยงดูลูกไม่ตรงกัน ขัดแย้งกัน ให้ดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อย่างแท็บเลต โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ เป็นเวลานาน ๆ

 

สำหรับอาการที่บ่งชี้ว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ดังนี้ค่ะ

  • ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย เหม่อลอย ขาดความตั้งใจในการเรียน ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำได้นาน ไม่ค่อยรอบคอบ ขี้ลืม เบื่อง่าย
  • ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง ชอบวิ่งหรือปีนป่าย ชอบเล่นเสียงดัง ทำอะไรรุนแรง พูดมาก
  • ใจร้อน วู่วาม ขาดความระมัดระวัง อดทนรอคอยไม่ได้ ชอบพูดขัดจังหวะหรือ พูดแทรกเวลาคนอื่นคุยกัน ชอบแย่งของเล่นเพื่อน

 

 

รักษาได้ด้วยวิธีไหน?

เมื่อลูกมีอาการสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อให้ลูกได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมค่ะ ซึ่งจิตแพทย์มักมีแนวทางการรักษาควบคู่กัน 3 วิธี คือ

1. ใช้ยาเพิ่มสมาธิ กรณีที่เด็กสมาธิสั้นมาก
2. ให้เด็กฝึกควบคุมตัวเอง
3. ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและโรงเรียนให้เหมาะสม

 

เด็กสมาธิสั้น รับมือยังไงให้อยู่หมัด

จงระลึกเสมอนะคะว่า พฤติกรรมที่ก่อปัญหาของเด็กไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะก่อกวน แต่เป็นเพราะความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง เขาเลยควบคุมตัวเองไม่ได้ค่ะ เทคนิคต่อไปนี้จะช่วยให้รับมือกับภาวะสมาธิสั้นของเด็ก ๆ ได้ไม่ยากค่ะ

  • จัดหามุมสงบให้เด็กนั่งทำการบ้าน อ่านหนังสือ โดยไม่มีสิ่งรบกวนหรือทำให้เสียสมาธิ
  • ไม่ซื้อของเล่นให้มากเกินไป แต่ควรหากิจกรรมให้เด็กทำ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี เพื่อให้ใช้พลังงานในทางที่สร้างสรรค์และเหมาะสม
  • ไม่บ่น ไม่ตำหนิ บอกเด็กสั้น ๆ ตรงไปตรงมาว่าต้องการให้ทำอะไร ให้เด็กสบตาแล้วทวนสิ่งที่พ่อแม่พูด เพื่อเช็กว่าเขารับฟังได้ครบและเข้าใจถูกต้อง อย่าบอกทีเดียวหลาย ๆ อย่าง เพราะเด็กอาจฟังได้ไม่ครบ
  • พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของความมีระเบียบวินัย รู้จักอดทนรอคอย รวมถึงการใช้สื่อหน้าจออื่น ๆ ด้วย
  • ไม่ลงโทษรุนแรง แต่ควรตักเตือนและสอนสม่ำเสมอว่าพฤติกรรมใดเหมาะสมหรือ ไม่เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ไขด้วยตนเอง
  • มองหาจุดเด่น และความสามารถของเด็กในด้านอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจ

 

การละเลยลูกและปล่อยให้ปัญหาสะสมนานจนเขาอายุเกิน 7 ปีไปแล้ว จะทำให้พฤติกรรมต่าง ๆ กลายเป็นพฤติกรรมถาวรและแก้ไขได้ยาก แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ลองใช้เทคนิคข้างต้นดูแลลูก เขาย่อมมีโอกาสหายและกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติค่ะ

 

บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ