header_website.png

no.23-ef-sraangngaayluukchlaadsmway-miithaksadiirbdaan-aw.jpg

เป็นธรรมดาที่พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกโตไปมีอนาคตที่ดี ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เชื่อไหมคะว่ากุญแจที่จะผลักดันให้เด็กไปสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่ความเก่งหรือ IQ ดีเสมอไป แต่มันคือทักษะ EF ต่างหากค่ะ ทักษะนี้แหละที่นักวิชาการระดับโลกต่างเห็นตรงกันว่าสำคัญยิ่งกว่า IQ เสียอีก คุณพ่อคุณแม่คงสงสัยใช่ไหมคะว่า ทักษะ EF มันเจ๋งยังไงถึงทำให้เด็ก ๆ ประสบความสำเร็จได้ งั้นมาดูกันเลยค่ะ
EF คืออะไร ทำไมถึงเหนือกว่า IQ
EF ย่อมาจากคำว่า Executive Functions เป็นความสามารถระดับสูงของสมองส่วนหน้า ที่ใช้ควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำของเราเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน การงาน และการใช้ชีวิต การฝึกให้ลูกใช้สมองส่วนนี้บ่อย ๆ เส้นใยเครือข่ายสมองจะแข็งแรง เมื่อแข็งแรงย่อมกลายเป็นทักษะ เป็นนิสัย เวลาจะตัดสินใจทำอะไรก็ไม่ต้องคิดเยอะค่ะ เพราะ EF จะทำงานเองอัตโนมัติ ทักษะนี้มีทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่
- ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) ความสามารถในการจดจำสิ่งต่าง ๆ เพื่อประมวลผลและดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองออกมาใช้ตามสถานการณ์
- การยั้งคิด (Inhibitory Control) ควบคุมความต้องการของตนเองได้ ไม่ตอบสนองต่อสิ่งล่อใจ ไม่หุนหันพลันแล่น ไม่ตามใจตัวเอง
- มีความคิดยืดหยุ่น (Cognitive Flexibility) ไม่ยึดติดความคิดเดิม ๆ รู้จักพลิกแพลงสถานการณ์ มองเห็นทางออกใหม่ ๆ ปรับตัวได้ง่าย
- มีสมาธิจดจ่อ (Attention) มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่วอกแวก
- ควบคุมอารมณ์ได้ (Emotional Control) มีอารมณ์มั่นคง จัดการกับความเครียดได้
- วางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบ (Planning and Organizing) รู้จักตั้งเป้าหมาย มองเห็นภาพรวม จัดลำดับความสำคัญ จัดระบบโครงสร้าง จนถึงการแตกเป้าหมายให้เป็นขั้นตอน
- รู้จักประเมินตนเอง (Self-Monitoring) บอกได้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร หาจุดบกพร่องของตัวเองได้ และรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร
- ริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) คิดแล้วก็ลงมือทำ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
- มุ่งสู่เป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) มีความมุ่งมั่นเพียรพยายามทำงานให้สำเร็จลุล่วง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ล้มแล้วลุกขึ้นได้ ไม่จมจ่อมอยู่กับปัญหานาน ๆ
no.23-ef-sraangngaayluukchlaadsmway-miithaksadiirbdaan-pic.jpg

EF สำคัญมาก แต่ก็สร้างไม่ยาก
การสร้างรากฐาน EF ที่ดีแก่เด็ก ช่วยให้พวกเขามีพฤติกรรมเชิงบวก สามารถคิดและตัดสินใจได้อย่างสร้างสรรค์ รู้จักแสดงออกอย่างเหมาะสม อดทนได้ รอคอยเป็น มีความรับผิดชอบ คิดเป็นระบบ มีระเบียบวินัย ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่สร้างปัญหาให้แก่สังคม
งานวิจัยระบุชัดเจนเลยว่า เด็กวัย 3-6 ปี สมองจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสทองในการพัฒนาทักษะ EF เพราะหลังจากพ้นช่วงนี้ไปแล้ว แม้จะยังพัฒนาได้แต่ก็ไม่ดีเท่าช่วงก่อนวัยเรียน คุณพ่อคุณแม่ลองส่งเสริมและสร้าง EF ให้ลูกง่าย ๆ ด้วย 5 วิธีนี้ดูนะคะ
- การเลี้ยงดูเชิงบวก ให้ความรักความอบอุ่น มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกตั้งแต่เล็ก ๆ มีระเบียบวินัย มีเหตุผล และตอบสนองลูกอย่างเหมาะสม
- ให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัย และฝึกให้มีความรับผิดชอบ เช่น กินข้าว แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว เก็บของเล่น เก็บที่นอน เก็บจานข้าว รวมทั้งให้ช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น กวาดบ้าน ล้างจาน ตากผ้า เพราะการทำอะไรได้ด้วยตัวเอง จะทำให้ลูกมีความภูมิใจและนับถือตนเอง มี EF ดีกว่าเด็กที่ไม่ทำอะไรเลย
- เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอน หรือให้ลูกมีส่วนร่วมในการเล่า ลำดับเรื่องราว และหัดเล่านิทานเอง ที่สำคัญต้องตั้งคำถามชวนลูกคิดหาคำตอบด้วยนะคะ
- ให้เล่นบทบาทสมมติ หรือเล่นตามจินตนาการตนเอง เช่น เล่นขายของ เล่นทำกับข้าว เล่นเป็นคุณหมอ เพื่อฝึกความคิดสร้างสรรค์และการวางแผน
- ปล่อยให้เล่นอิสระ เพื่อพัฒนาประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่
โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายมิติ และมีสิ่งเร้ามากมายที่จะกระตุ้นให้เด็ก ๆ ออกนอกลู่นอกทางได้ง่าย แต่ความรักความอบอุ่นของครอบครัวจะเอื้อให้ EF ทำงานได้ง่ายขึ้นค่ะ เมื่อ EF มาช่วยควบคุมความคิด พฤติกรรม และอารมณ์ของลูก เขาจะคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น รู้จักยับยั้งชั่งใจ มีความคิดยืดหยุ่น มีทักษะชีวิตดี และเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ค่ะ
บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ