Skip to main content
Search
Search

เมื่อลูกรักมีอาการชักจากไข้สูง

header_website.png

no.3_emuueluukrakmiiaakaarchakcchaakaikhsuung.jpg

 

 

เวลาลูกน้อยตัวร้อน มีไข้สูงปรี๊ด สิ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่วิตกกังวลมากสุด ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องอาการชักที่อาจเกิดขึ้นตามมานั่นเอง ปกติภาวะไข้สูงมากมักทำให้เด็กเล็กมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว ถ้าปล่อยให้ชักนาน ๆ หรือชักบ่อย ๆ แล้วละก็ อาจกระทบกระเทือนต่อสมองของลูกที่กำลังเจริญเติบโตได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงกำลังสงสัยใช่ไหมคะว่า อาการชักมันเกิดขึ้นได้ยังไง ทำไมต้องเป็นตอนมีไข้สูง งั้นอย่ารอช้า เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการนี้กันเลยค่ะ

ภาวะชักจากไข้สูงเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เนื่องจากสมองของเด็กเล็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ เมื่ออุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยภาวะไข้สูง (เกิน 39 องศาเซลเซียส) จากโรคต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ จึงทำให้ชักได้ง่าย ซึ่งมักพบในเด็กอายุ 6 เดือน - 5 ขวบ แต่ที่พบบ่อยเป็นเด็กเล็กอายุ 1-2 ขวบ ถ้าอายุเกิน 7 ขวบ สมองเริ่มเจริญเติบโต มีความต้านทานต่อความร้อน จึงมีอาการชักน้อยมาก

รู้สาเหตุกันแล้ว ทีนี้เรามาดูอาการกันต่อนะคะ...
เมื่อมีไข้สูงมาก ๆ กล้ามเนื้อจะเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว ตาค้าง กัดฟัน กัดลิ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมอาการตัวร้อนในวันแรก หรือในวันหลัง ๆ ก็ได้ โดยทั่วไปจะชักนาน 3 - 5 นาที แล้วจะหยุดไปเองค่ะ ไม่มีอันตรายต่อสมองเด็ก หลังหยุดชักจะไม่ซึม ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรง และไม่เป็นซ้ำอีก แต่ถ้าเด็กชักจากไข้ครั้งแรกก่อนอายุ 1 ขวบ และคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็น เด็กอาจมีโอกาสชักซ้ำได้มากขึ้น เพราะอาการชักจากไข้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ค่ะ กรณีที่มีอาการชักเฉพาะแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง นานเกิน 15 นาที หรือเป็นซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง มีอาการซึมหรือแขนขาอ่อนแรง อาจเกิดจากความผิดปกติทางสมอง จะทำให้เป็นโรคลมชักได้มากกว่าเด็กปกติ
อาการชักดูน่ากลัวก็จริง แต่ไม่มีผลต่อเด็กที่ร่างกายปกติและแข็งแรงนะคะ ยกเว้นกรณีที่เกิดจากความผิดปกติหรือเป็นโรคติดเชื้อในสมอง และชักต่อเนื่องนานเกิน 30 นาที จนทำให้ตัวเขียวเนื่องจากขาดออกซิเจน อาจส่งผลต่อสมอง พัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็กได้ค่ะ

 

 

no.3.1_emuueluukrakmiiaakaarchakcchaakaikhsuung.jpg

 

 

วิธีดูแลลูกเมื่อมีอาการชัก สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้
อันดับแรกเลยคุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติ อย่าตกใจเกินไปนะคะ จากนั้นให้จับลูกนอนตะแคง เพื่อป้องกันการสำลักจนไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ห้ามล้วงงัดปากขณะชักเด็ดขาดค่ะ รีบเช็ดตัวลดไข้ให้เร็วที่สุด ส่วนใหญ่มักจะชักไม่นานและกลับมาเป็นปกติได้ แต่ถ้าชักนาน ชักซ้ำ หรือมีอาการซึม ไม่ตอบสนอง ควรนำส่งโรงพยาบาลทันทีนะคะ

วิธีดูแลเป็นเรื่องสำคัญ แต่การป้องกันนั้นสำคัญยิ่งกว่า ทำอย่างไรมาดูกันนะคะ
เมื่อลูกเริ่มมีไข้ควรให้ยาน้ำลดไข้พาราเซตามอล และเช็ดตัวให้ทันที ไข้จะได้ไม่สูงมากค่ะ เวลาเช็ดตัวควรเน้นบริเวณข้อพับต่าง ๆ และถูตามแขนขาแรง ๆ เพื่อให้เส้นเลือดขยายตัว จะได้ระบายความร้อนออกเร็ว ๆ ถ้ากินยาและเช็ดตัวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น รีบพาลูกไปพบแพทย์เลยค่ะ

บางครั้งจู่ ๆ เด็กก็มีไข้ขึ้นมาโดยที่ไม่มีอาการอะไรบ่งบอกล่วงหน้าเลย การมียาลดไข้พาราพาราเซตามอลติดไว้ประจำบ้าน ถือเป็นวิธีป้องกันอย่างหนึ่งเช่นกันค่ะ เพราะเวลาลูกมีไข้ โดยเฉพาะในตอนกลางคืน คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถป้อนยาลดไข้ลูกได้ทันที ทำให้อาการของลูกค่อย ๆ ดีขึ้น ไม่มีไข้สูงจนน่าเป็นห่วง

เรียบเรียงโดย
พญ.ปรารถนา ปันทะ
นายแพทย์ชำนาญการ