Skip to main content
Search
Search

โรคอ้วนในเด็กเกิดจากอะไร?

header_website.png

no.25-orkhwnainedk-ekidcchaakaair-aw.jpg

 

 

เวลาใคร ๆ เห็นเด็กน้อยอ้วนจ้ำม่ำน่ารัก ก็มักจะรู้สึกมันเขี้ยวอยากเข้าไปฟัด อยากเข้าไปเล่นด้วยเสมอ เหตุนี้ละมั้งคะที่อาจทำให้หลายต่อหลายบ้านชอบเลี้ยงลูกหลานให้ดูจ้ำม่ำ ถ้าเด็กชอบกินอะไรก็จะจัดหามาให้ไม่อั้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีประโยชน์หรือไม่ก็ตาม แต่รู้ไหมว่าทัศนคติที่ผิด ๆ นี้อาจทำให้เด็กเป็นโรคอ้วน และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้นะคะ

อย่าปล่อยให้ลูกหลานเป็นโรคอ้วนด้วยสิ่งนี้!
พฤติกรรมการกินอาหาร การเลี้ยงดู และพันธุกรรม ดังตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นปัจจัยหลักเลยค่ะที่ส่งผลให้เด็กอ้วน

  • กินแต่อาหารฟาสต์ฟู้ด ของทอดของมัน ขนมขบเคี้ยว และดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป
  • กินอาหารไม่เป็นเวลา กินจุบกินจิบทั้งวัน หรือนั่ง ๆ นอน ๆ กินขนมระหว่างดูโทรทัศน์
  • ไม่ชอบออกกำลังกาย และไม่กินผักผลไม้หรืออาหารที่มีประโยชน์
  • พ่อแม่อ้วน ลูกมีแนวโน้มที่จะโตมาอ้วนมากถึงร้อยละ 79
  • ฮอร์โมนในร่างกายจำพวกไทรอยด์ อินซูลิน ทำงานผิดปกติ

เมื่อเด็กอ้วนก็ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรค และความผิดปกติตามมาอีกหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวานและอาจมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไตเสื่อม เบาหวานขึ้นจอตา ไขมันในเลือดสูง ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันตั้งแต่วัยเด็กจนถึงโตเป็นผู้ใหญ่ ภาวะไขมันพอกตับ ทำให้ตับและถุงน้ำดีอักเสบ ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น ทำให้นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลให้หัวใจและปอดทำงานผิดปกติ ปวดเข่า สะโพกและกระดูกขาผิดรูป ผิวหนังบริเวณลำคอ รักแร้ ข้อพับ และขาหนีบ เป็นผื่นสีน้ำตาลดำ นูนหนา มีบุคลิกภาพที่ไม่ดี ขาดความมั่นใจในตัวเองเพราะถูกเพื่อนล้อ และอาจมีอาการซึมเศร้าตามมา ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีบุตรยากเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ มีแนวโน้มพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน

 

 

no.25_orkhwnainedk-ekidcchaakaair-pic.jpg

 

 

การป้องกันและดูแลเด็กที่เป็นโรคอ้วน
ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่นะคะ ถ้าหากฝึกลูกให้มีวินัยในการกินอาหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ ลูกของเราก็จะหายจากโรคอ้วนได้ไม่ยากเลยค่ะ

  • ควบคุมปริมาณอาหาร ให้กินผักผลไม้ที่มีกากใยมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ
  • ดื่มนมรสจืดแทนนมรสหวาน ไม่ดื่มน้ำหวานมากเกินไป และงดดื่มน้ำอัดลมทุกชนิด
  • กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ ลดการกินอาหารนอกบ้าน หรืออาหารสำเร็จรูป
  • ลดการกินขนมขบเคี้ยวและขนมหวานต่าง ๆ ไม่ตามใจลูกเรื่องกิน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ นานติดต่อกัน 20 นาทีขึ้นไป อย่างน้อย 3-5 วัน/สัปดาห์
  • หากิจกรรมนอกบ้านทำกันทั้งครอบครัว
  • พ่อแม่ต้องให้กำลังใจเมื่อลูกอยากลดน้ำหนัก

การเสริมสร้างให้เด็กมีสุขนิสัยและโภชนาการที่ดี นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่ลูกแล้ว ก็ต้องส่งเสริมให้ครอบครัวมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไปพร้อมกันด้วยนะคะ การป้องกันโรคอ้วนจึงจะมีประสิทธิภาพ

บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ