Skip to main content
Search
Search

หมดปัญหาลูกปัสสาวะรดที่นอน

header_website.png

no.20-hmdpayhaa-luukpassaawa-rdthiinn-aw.jpg

 

 

กลุ้มใจจริงจริ๊ง เพิ่งเปลี่ยนผ้าปูที่นอนใหม่ เปียกฉี่อีกแล้วเหรอเนี่ย เฮ้อ! คุณแม่ถอนหายใจ ลากเสียงยาว ๆ ไป คิดว่าหลาย ๆ บ้านน่าจะเจอปัญหานี้ไม่ต่างกัน อันที่จริงการปัสสาวะรดที่นอนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กทั่วไปนะคะ โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพราะเขายังควบคุมการปัสสาวะไม่ได้ แต่ภาวะนี้จะค่อย ๆ หายไปเมื่อลูกโตขึ้นค่ะ ดังนั้นเมื่อลูกปัสสาวะรดที่นอน คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจและให้กำลังใจลูก มากกว่าที่จะตำหนิ ลงโทษ หรือมองว่าเป็นปัญหานะคะ

อย่าด่วนดุลูก เพราะสาเหตุนั้นอาจเกิดจากความผิดปกติบางอย่าง
ถึงจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเหล่านี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง

  • ฮอร์โมน antidiuretic (ADH) หลั่งออกมาน้อยกว่าปกติในเวลากลางคืน ร่างกายจึงผลิตปัสสาวะในตอนกลางคืนมากกว่าปกติ
  • ระบบประสาทที่ควบคุมการปัสสาวะยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงควบคุมการปัสสาวะในตอนกลางคืนไม่ได้
  • กระเพาะปัสสาวะมีความจุน้อยและไวต่อการถูกกระตุ้นมากกว่าปกติ กระเพาะปัสสาวะจึงบีบตัวออกมาทั้ง ๆ ที่ยังเก็บปัสสาวะไม่เต็มที่
  • เกิดจากพันธุกรรม เด็กปัสสาวะรดที่นอนร้อยละ 75 มีพ่อแม่หรือญาติมีประวัติปัสสาวะรดที่นอน
  • ความเครียดอาจกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมถดถอยจนปัสสาวะรดที่นอนได้ เช่นการมีน้องใหม่ การย้ายโรงเรียน รวมถึงการฝึกขับถ่ายที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ฝึกเลย หรือเข้มงวดมากเกินไป

 

 

no.20-hmdpayhaa-luukpassaawa-rdthiinn-pic.jpg

 

 

5 วิธี แก้ปัญหาลูกฉี่รดที่นอนอย่างได้ผล

  1. งดดื่มนมหรือน้ำปริมาณมากก่อนเข้านอนประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ในตอนกลางวันแทน และฝึกกลั้นปัสสาวะให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะขยายขนาด และกักเก็บปัสสาวะได้มากขึ้น
  2. ฝึกปัสสาวะก่อนเข้านอน และให้บอกเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตด้วยว่าลูกมักปัสสาวะตอนไหน แล้วปลุกเขาขึ้นมาปัสสาวะก่อนจะถึงเวลาปัสสาวะรดที่นอน
  3. อย่าให้ลูกเล่นจนเหนื่อยเกินไป เพราะอาจจะหลับสนิทจนไม่ยอมลุกขึ้นมาปัสสาวะ
  4. แสดงความเห็นใจ ไม่ต่อว่า ดุด่า หรือล้อเลียน เพราะอาจกระทบต่อจิตใจลูก วันไหนที่ลูกไม่ปัสสาวะรดที่นอน ควรให้คำชมและให้รางวัลตามที่ตกลงกันไว้
  5. ถ้าลูกอยู่ในวัย 5 ขวบขึ้นไป ปัสสาวะรดที่นอนมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่าง เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โครงสร้างของระบบขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เป็นโรคเบาหวานหรือเบาจืด จึงจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีนะคะ

การฝึกให้ลูกขับถ่ายปัสสาวะด้วยความรุนแรง หรือฝึกเร็วเกินไปโดยที่ลูกยังไม่พร้อม อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีนะคะ เพื่อลดความกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่ การใช้ผ้ายางกันเปียกปูที่นอนลูก นับว่าช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ดีที่สุดค่ะ

บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ