header_website.png

no.29_phaemkhwrruuemuueluuksamlaksingaeplkplm_aw.jpg

เด็กเล็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น เขามักจะชอบคลานหรือเดินเตาะแตะสำรวจโน่นนี่นั่น พร้อมหยิบฉวยสิ่งของที่เห็นเข้าปากตลอดเวลา ซึ่งบางทีคุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทันระมัดระวัง จนสิ่งของนั้นไปอุดกั้นทางเดินหายใจหรือหลอดอาหาร ทำให้ลูกขาดอากาศหายใจได้ ดังนั้นเพื่อให้ลูกน้อยปลอดภัย นอกจากการป้องกันที่ดีแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องเรียนรู้วิธีช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยนะคะ
สิ่งของที่เสี่ยงติดคอนั้นมีอยู่รอบตัว!
สิ่งของอะไรก็ตามไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เมื่ออยู่ใกล้ตัวเด็ก ย่อมทำให้เขาหยิบเข้าปากได้ง่าย หรือแม้แต่อาหาร ถ้ารีบกินรีบกลืนก็ทำให้ติดคอได้เช่นกันค่ะ สิ่งของที่เสี่ยงติดคอเด็กมีหลายอย่าง เช่น ถั่วต่าง ๆ เมล็ดผลไม้ กระดุม ลูกปัด ชิ้นส่วนพลาสติก ชิ้นส่วนของเล่น เหรียญ เม็ดโฟม แบตเตอรี่นาฬิกา อาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น เยลลี่ ไส้กรอก ลูกชิ้น องุ่น ลูกอม หมากฝรั่ง ของพวกนี้เมื่ออุดกั้นหลอดลมจนอากาศเข้าไม่ได้ เด็กจะสำลัก ไอ พูดไม่มีเสียง ร้องไห้ไม่มีเสียง หายใจลำบาก หน้าเขียว เล็บเขียว ตาเหลือก หรือหมดสติ
จำให้ขึ้นใจ กันไว้ย่อมดีกว่าแก้
- จัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สิ่งของที่มีขนาดเล็กควรเก็บให้พ้นมือเด็ก
- สอนให้เด็กกินอาหารช้า ๆ ค่อย ๆ เคี้ยว ไม่รีบร้อนกลืน และไม่กินขณะนอนราบ
- สอนให้เด็กห้ามนำสิ่งของที่ไม่ใช่อาหารเข้าปาก
- ไม่ให้เด็กวิ่งเล่น พูดคุย หรือหัวเราะขณะมีอาหารอยู่ในปาก เพราะจะทำให้ลื่นหลุดลงคอได้ง่าย
- ผลไม้ที่มีเมล็ด เช่น ส้ม องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ แตงโม น้อยหน่า ละมุด ควรเอาเมล็ดออกและหั่นเป็นคำเล็ก ๆ ให้เด็กเคี้ยวได้ ถ้าเด็กเล็กที่ฟันยังไม่ขึ้น ควรบดให้ละเอียดก่อน
วิธีช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามอายุของเด็กดังนี้ค่ะ
เด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ
1. ห้ามล้วงคอถ้ามองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม และไม่ควรจับเด็กห้อยหัวแล้วตบหลังเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปลึกมากขึ้นจนอุดหลอดลมได้
2. ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยจับเด็กนอนคว่ำบนท่อนแขน ให้ศีรษะต่ำกว่าลำตัว ใช้มือข้างไม่ถนัดจับบริเวณขากรรไกรเพื่อประคองคอ แล้วใช้ส้นมือข้างที่ถนัด กระแทกกึ่งกลางสะบักของเด็กอย่างแรง 5 ครั้ง
3. จับเด็กนอนหงายบนท่อนแขน ให้ศีรษะต่ำกว่าลำตัว กดนิ้วชี้กับนิ้วกลางลงบนกระดูกกึ่งกลางหน้าอก ต่ำกว่าระดับหัวนมเล็กน้อย และกดติดต่อกันเร็ว ๆ 5 ครั้ง
4. ทำสลับไปมาระหว่างใช้ส้นมือกระแทกหลัง 5 ครั้ง และกดกระแทกหน้าอก 5 ครั้ง ไปเรื่อย ๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
5. หากเด็กหมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล และกดหน้าอกทันทีโดยไม่ต้องคลำชีพจร โดยกดหน้าอก 30 ครั้งสลับกับช่วยหายใจ 2 ครั้ง จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล
เด็กอายุมากกว่า 1 ขวบ
1. ถ้าเด็กยังหายใจได้ พูดได้ ให้ตบหลังเบา ๆ ก่อน เพื่อกระตุ้นสิ่งแปลกปลอมให้หลุดออกมา หากพูดไม่ได้ ให้ยืนข้างหลังเด็ก สอดแขนเข้าใต้รักแร้เพื่อโอบรอบตัว
2. กำมือข้างหนึ่ง ให้ด้านนิ้วหัวแม่มือวางบริเวณกึ่งกลางท้องเด็ก สูงกว่าสะดือเล็กน้อย ใช้อีกมือจับมือข้างที่กำอยู่แล้ว รัดให้แน่นและกระตุกขึ้นพร้อมกันแรง ๆ จนกว่าสิ่งที่ติดคอจะหลุดออกมา หรือจนกว่าจะมีเสียงเล็ดออกมา
3. หากเด็กหมดสติให้นำส่งโรงพยาบาลทันที พร้อมกับรีบช่วยให้ฟื้น โดยจับนอนหงายบนพื้น ใช้มือยกคางขึ้นและดันศีรษะเด็กให้แหงนไปข้างหลังให้มากที่สุด เพื่อเปิดทางเดินหายใจ
4. ให้รีบช่วยหายใจทันที โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งบีบจมูกและเป่าลมเข้าปาก 2 ครั้ง มองหาสิ่งแปลกปลอมในปากก่อนช่วยหายใจ ถ้ามองเห็น ให้ใช้นิ้วกวาดสิ่งแปลกปลอมออกมา หากมองไม่เห็นหรือไม่มั่นใจ ห้ามใช้นิ้วกวาด เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปอุดทางเดินหายใจอีกครั้ง
5. กดหน้าอกและช่วยหายใจต่อเนื่อง โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง ช่วยหายใจ 2 ครั้ง ทำซ้ำประมาณ 5 รอบ หรือ 2 นาที จนกว่าความช่วยเหลือทางการแพทย์จะมาถึง หรือจนสิ่งแปลกปลอมออกมา
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กควรดูแลอย่างใกล้ชิด และหมั่นสังเกตด้วยนะคะว่าเขามีอาการไอ หายใจไม่ออก พูดไม่ได้บ้างหรือไม่ จะได้รีบช่วยเหลือทันท่วงที เพราะถ้าปล่อยให้สิ่งของติดคอลูกนานเพียงแค่ 4 นาที สมองจะขาดออกซิเจน หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ ถึงแม้บางที
จะปั๊มหัวใจกลับมาได้ สมองก็จะไม่ทำงานแล้ว ทำให้กลายเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราได้ค่ะ
บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ