ty_tumbnail_column-headline-5.jpg

ท็อป กับน้อยหน่า แต่งงานมาได้ 2 ปี และตอนนี้ก็รับบทเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้ 8 เดือนแล้ว!
ทั้งสองสนุกกับการเฝ้าดูการเติบโตของเจ้าตัวเล็กทุกวัน ซึ่งการรับมือการปัญหาใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเจอ ทั้งการร้องตอนดึก เป็นผื่นแพ้ หรือไข้สูง แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองทำอะไรไม่ถูกในตอนแรก แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ผ่านมันไปได้ และย้อนมองว่า เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ก้าวผ่านมาด้วยกันของเราทั้งสามคน
“ฟันซี่แรก” ก็เป็นหนึ่งในการเติบโตของลูกน้อยที่ทั้งสองเฝ้ารอ
ซึ่งจากบทความเชิงการแพทย์ที่น้อยหน่าอ่านเป็นประจำบอกว่า ทารกจะฟันงอกช่วง 6 เดือน ถึง 3 ขวบ และ ลูกน้อยจะมีอาการคันเหงือก คือ หงุดหงิดและอารมณ์ไม่ดี เนื่องจากปวดเหงือก เพราะขณะที่ฟันขึ้น ขอบฟันจะดันเหงือกขึ้นมา ซึ่งฟันซี่แรกมักเป็นซี่ที่ทำให้ทารกรู้สึกเจ็บที่สุด เพราะเป็นความรู้สึกใหม่ที่เกิดขึ้นกับเขา
ครั้งนี้.. ท็อปและน้อยหน่า ก็ผ่านช่วงเวลาฟันซี่แรกของลูกไปได้อีกครั้ง จึงมีวิธีสังเกตอาการ และรับมือมาแชร์กันค่ะ ^^
ty_content_column-5.jpg

สังเกตอาการ..ลูกฟันขึ้น
- หงุดหงิด งอแง นอนหลับไม่สนิท และ ร้องมากขึ้นในเวลากลางคืน
- น้ำลายไหลมาก และ อยากกัดทุกอย่างที่เห็น (เพื่อลดอาการเจ็บปวด)
- แก้มจะเป็นสีแดงเรื่อ ๆ และตัวร้อนรุม ๆ (แต่ไม่สูงถึง 38 องศาเซลเซียส)
- เหงือกจะบวมแดง
- เบื่ออาหาร ปฏิเสธการดูดนมแม่ หรือ นมขวดเพราะรู้สึกเจ็บเหงือก
วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อฟันขึ้น
- ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อทดแทนน้ำลายที่สูญเสียไป
- ถ้าลูกร้องโยเย หรือแสดงอาการเจ็บ ในเบื้องต้นสามารถทานยาพาราเซตามอลบรรเทาปวดได้ โดยต้องเลือกให้เหมาะสมกับอายุ และ น้ำหนักตัวของเด็ก ทั้งนี้คุณพ่อ คุณแม่ควรอ่านฉลากให้ละเอียดและให้ยาตามที่ระบุไว้ ก่อนพาไปปรึกษาแพทย์
- ให้ลูกกัดยางกัดเพื่อบรรเทาอาการคันเหงือก โดยการเคี้ยวจะช่วยให้เนื้อเยื่อที่เหงือกแยกออกจากกัน ทำให้ฟันแทงขึ้นมาได้ง่าย อาจเลือกยางกัดที่แช่เย็นได้ เพราะความเย็นจะช่วยลดปวด ลดบวมของเหงือกได้ด้วย
- หันเหความสนใจของลูกด้วยการกอด หรือ เล่นกับลูก
เพียงเท่านี้ ก็สามารถรับมือกับ อาการหงุดหงิดงอแงเพราะปวดเหงือกของเจ้าตัวเล็กได้แล้วค่ะ ใครที่ลูกกำลังฟันขึ้น อย่าลืมทำตามกันดูนะคะ ^^
ตรวจสอบเนื้อหาโดย
พญ.ปรารถนา ปันทะ
นายแพทย์ชำนาญการ
ข้อมูลอ้างอิง
synphaet.co.th/children-ramintra/ฟันลูกจะขึ้น-ต้องทำยัง/