header_website.png

no.15_aakaaraebbaihnbngbkwaaluukfankhuen_aw.jpg

ธรรมชาติของเด็กทั่วไปจะเริ่มมีฟันน้ำนมซี่แรกเมื่ออายุประมาณ 6-10 เดือน เมื่อไหร่ที่คุณพ่อคุณแม่เห็นสีขาวโผล่พ้นผิวเหงือกลูกน้อยละก็ มันคือฟันซี่แรกนั่นเองค่ะ ฟันซี่แรกที่ขึ้นในช่องปากมักเป็นฟันหน้าซี่กลางล่าง หลังจากนั้นฟันจะขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1 ซี่ จนครบ 20 ซี่เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง สัญญาณต่าง ๆ ต่อไปนี้บ่งบอกว่าฟันของลูกกำลังจะขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวรับมือกับสารพัดอาการของลูกน้อยกันได้เลย
ฟันที่กำลังขึ้นอาจทำให้เจ้าตัวน้อยมีอาการบางอย่าง
- ขี้หงุดหงิด งอแง และขี้อ้อนมากกว่าปกติ
- น้ำลายไหลย้อย ทำให้มีปื้นแดงหรือเป็นผื่นบริเวณรอบปากและแก้มร่วมด้วย
- เหงือกบวมแดง อยากเคี้ยวและกัดสิ่งของทุกอย่าง
- หลับไม่สนิท ตื่นมาร้องงอแงกลางดึก
- อุณหภูมิร่างกายอาจสูงขึ้นเล็กน้อย ทำให้ตัวอุ่นกว่าปกติ
ถึงแม้ฟันขึ้นจะทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัวและหงุดหงิดบ้าง แต่การขึ้นของฟันก็ไม่ได้ทำให้ป่วยเสมอไปนะคะ อาการแปลก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม ได้แก่ ร้องไห้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ปวดหูซึ่งดูได้จากการที่ลูกดึงใบหูหรือส่ายหัวบ่อย ๆ ท้องเสียรุนแรงหรือถ่ายเหลวมากกว่า 2 ครั้ง มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป นานกว่า 24 ชั่วโมง ไม่ยอมกินอาหารมากกว่า 1 มื้อ ไอมากกว่าปกติ ถ้าลูกน้อยมีอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องพาไปพบแพทย์นะคะ
no.15_aakaaraebbaihnbngbkwaaluukfankhuen-pic.jpg

วิธีดูแลง่าย ๆ เมื่อลูกน้อยฟันขึ้น
- เมื่อลูกไม่สบายหรือเจ็บเหงือก ให้กินยาน้ำลดไข้พาราเซตามอล โดยคำนวณขนาดตามน้ำหนักตัว เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- ถ้าไม่มีไข้ อาจใช้ยาชาชนิดเจลทาบาง ๆ ตรงที่เหงือกบวม เพื่อลดอาการเจ็บปวด
- ให้ลูกกัดยางซิลิโคนแช่เย็น เพื่อบรรเทาอาการคันเหงือก
- ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็น ๆ ทำความสะอาดลิ้น เหงือก ฟัน กระพุ้งแก้ม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และอาจมีเลือดออกขณะทำความสะอาด แต่ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะเป็นอาการปกติ
- เมื่อฟันขึ้นเกินครึ่งซี่ ให้ใช้แปรงสีฟันขนาดเล็ก ขนนุ่ม ปลายขนกลมมน แปรงฟันให้ลูก สามารถใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ได้ แต่ต้องแตะแค่ปลายขนแปรง ยาสีฟันปริมาณน้อยไม่เป็นอันตราย แปรงเสร็จให้เช็ดฟองออกพร้อมกับเช็ดในปากด้วยผ้าสะอาด
ฟันน้ำนมมีความสำคัญมาก เพราะเป็นรากฐานของฟันแท้ที่จะขึ้นมาภายหลัง ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ช่วยรักษาความสะอาดให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ ฟันน้ำนมของลูกก็จะสวยงาม ไม่ผุ ไม่มีปัญหาในช่องปาก และเป็นรากฐานที่ดีของฟันแท้ในอนาคตค่ะ
บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ