header_website.png

no.35_kaaraephaahaaredk_aw.jpg

อาหารบางอย่างถูกปากมาก ๆ แต่กลับไม่ถูกใจร่างกายเอาซะเลย กินทีไรแพ้ทุกที ถึงจะอร่อยแค่ไหนก็เป็นอันต้องเลิกกิน หรือถ้าเห็นใครกินก็ทำได้แค่มองตาปริบ ๆ กลืนน้ำลายดังเอื๊อก! เป็นความทรมานที่คนแพ้อาหารเท่านั้นถึงจะเข้าใจ อาการแพ้อาหารนี้พบได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่นะคะ สำหรับการแพ้อาหารในเด็ก ซึ่งเขายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะถ้าหากลูกแพ้เฉียบพลันขึ้นมา อาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้เลย มาดูกันนะคะว่าอาหารยอดฮิตอะไรที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้บ่อย
อาหารธรรมดา ๆ แต่ฤทธิ์เดชนั้นช่างเหลือร้าย
อาหารที่ทำให้แพ้บ่อย ส่วนใหญ่เป็นพวกนมวัว ไข่ ข้าวสาลี ถั่วต่าง ๆ ผลไม้ เนื้อสัตว์ และอาหารทะเล ซึ่งแต่ละชนิดจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงแตกต่างก้น บางกรณีอาหารที่เคยแพ้ตอนเด็ก พอเลี่ยงไม่กินเป็นเวลานาน ก็อาจหายเมื่อโตขึ้น เช่น ไข่ นม ข้าวสาลี แต่ถ้าเป็นถั่วต่าง ๆ และอาหารทะเล จะมีโอกาสแพ้ไปตลอดชีวิตเลยค่ะ
สำหรับอาการแพ้อาหารนั้นก็มีหลายระดับ ตั้งแต่เล็กน้อย ปานกลาง จนถึงขั้นรุนแรง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนค่ะว่าจะตอบสนองมากหรือน้อยแค่ไหน อาการที่พบมากสุดได้แก่ คันตามผิวหนัง มีผื่นแดง เป็นลมพิษ รู้สึกแสบร้อน ผิวหนังบวม คันตา น้ำตาไหล ตาแดง รอบตาบวม คันจมูก แน่นจมูก น้ำมูกไหล คันในช่องปาก ริมฝีปาก ลิ้น หรือเพดานปากมีอาการบวม น้ำลายไหลตลอดเวลา คันคอ หรือแน่นในคอ ไอมากจนหอบ มีเสียงหวีดในลำคอ เสียงแหบ กล่องเสียงบวม หายใจไม่ออก แน่นหรือเจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว ความดันต่ำ เป็นลมหรือหมดสติ
5 ตัวการที่ทำให้เด็กแพ้อาหาร
1. พันธุกรรม ถ้าหากพ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ เด็กย่อมมีความเสี่ยงในการแพ้อาหารมากขึ้น
2. ระหว่างที่แม่ตั้งครรภ์หรือให้นมลูก ไม่ได้หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อภูมิแพ้ หรือกินแต่อาหารชนิดเดียวซ้ำ ๆ ในปริมาณมากเกินไป จึงกระตุ้นให้ลูกเป็นภูมิแพ้อาหารเหล่านั้น
3. เด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือนแรก จะส่งผลให้มีอาการแพ้ง่าย
4. ในเด็กเล็ก ระบบย่อยอาหารยังทำงานไม่สมบูรณ์ เมื่อมีอาหารผ่านลำไส้และเข้าสู่กระแสเลือด ก็จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ตามมา
5. ร่างกายขาดวิตามินดี ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการแพ้อาหาร
จะแพ้มากแพ้น้อย เราก็ป้องกันได้
ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกแพ้อาหารชนิดใด ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นไปเลยค่ะ ที่สำคัญต้องให้ลูกกินอาหารตามวัย ไม่กินตามผู้ใหญ่นะคะ
- ให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน หลัง 6 เดือนไปแล้ว ให้เริ่มกินอาหารเสริมควบคู่กับนมแม่ ซึ่งอาหารของลูกวัยก่อน 1 ขวบ ต้องไม่ปรุงแต่งรสชาติใด ๆ รวมทั้งไม่ให้กินถั่วและอาหารทะเลด้วย
- ถ้าลูกแพ้นมวัว ควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนมวัวด้วย เช่น เนยแข็ง นมเปรี้ยว ไอศกรีม คุกกี้
- ถ้าลูกแพ้แป้งสาลี ควรเลี่ยงอาหารอย่างเช่น บะหมี่หรือพาสต้า ขนมปัง ขนมเค้ก ซีอิ๊ว น้ำมันหอย เต้าหู้ไข่
- ก่อนนำอาหารสำเร็จรูปมาให้ลูกกิน ต้องอ่านส่วนผสมที่ฉลากของผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดว่ามีส่วนประกอบที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้หรือไม่
- ในเด็กโต คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ตัวเองมีอาการแพ้ และควรแจ้งให้คุณครูทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลเรื่องอาหารของลูกที่โรงเรียน
วิธีรักษาอาการแพ้อาหาร
การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการค่ะ ถ้ามีอาการแพ้ทางผิวหนัง จะให้กินยาแก้แพ้ที่เรียกว่า ยาแอนตี้ฮิสตามีน กรณีรู้สึกคันมากหรือเป็นลมพิษจะให้ทาคาลาไมน์ แต่ถ้าอาการรุนแรง หอบมาก ๆ หายใจไม่ออก ท้องเสีย อาเจียน ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
การแพ้อาหารในเด็กป้องกันได้ไม่ยากนะคะ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจดูแลอาหารการกินของลูก และหมั่นสังเกตปฏิกิริยาหลังจากที่ลูกกินอาหารเข้าไปแล้ว ที่สำคัญเมื่อลูกโตพอจะรู้ว่าตนมีอาการแพ้อาหาร เราต้องสอนให้เขาหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ภูมิแพ้กำเริบด้วย จะช่วยให้ลูกปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตค่ะ
บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ