Skip to main content
Search
Search

ทำอย่างไรเมื่อลูกตัวร้อน

header_website.png

no.8_thamyaangair_emuueluuktawrn.jpg

 

 

เมื่อลูกป่วย มีไข้ วิธีดูแลเบื้องต้นที่คุณแม่ส่วนใหญ่ใช้กันเป็นประจำก็คือ เช็ดตัวและป้อนยาลดไข้ โดยทั่วไปแล้วถ้าหากเด็กมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส แพทย์มักให้ยาน้ำลดไข้สำหรับเด็กที่มีพาราเซตามอล และเช็ดตัวควบคู่ไปด้วยเสมอ เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย คุณแม่หลายคนอาจยังสงสัยกันอยู่ว่าจะใช้น้ำอุ่นหรือน้ำเย็นเช็ดตัวลูกดีนะถึงจะเห็นผล ลองมาดูคำถามสุดฮิตและคำตอบที่ถูกต้องกันเลยค่ะ

น้ำเย็นช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้เร็วจริงไหม?
เชื่อว่าหลายคนอาจเคยใช้น้ำเย็น เพราะคิดว่าน่าจะช่วยให้ตัวหายร้อน ลดอุณหภูมิได้เร็ว จริง ๆ แล้ววิธีนี้ไม่แพทย์ไม่ค่อยแนะนำนะคะ เพราะน้ำเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ผิวหนังระบายความร้อนออกได้น้อย และจะทำให้ลูกหนาวสั่นจนกล้ามเนื้อร่างกายสร้างความร้อนเพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ

น้ำอุ่นจะทำให้ตัวลูกร้อนมากขึ้นหรือไม่?
คุณแม่หลายคนคงคิดว่าน้ำอุ่นอาจทำให้ลูกตัวร้อนขึ้น แต่ที่จริงแล้ว น้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้องจะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว จึงช่วยนำความร้อนออกจากร่างกายเร็วขึ้น นอกจากน้ำอุ่นแล้ว การเช็ดตัวแรงพอประมาณก็ช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดฝอยขยายตัวเร็วขึ้น ทำให้ไข้ลดได้เร็วเช่นกันค่ะ

นอกจากอุณหภูมิของน้ำ วิธีเช็ดตัวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ต้องใส่ใจไม่แพ้กัน มาดูวิธีเช็ดตัวที่ถูกต้องกันนะคะ

  1. เริ่มจากเช็ดบริเวณใบหน้า ซอกคอ หน้าอก ลำตัว แขน รักแร้ หลัง ขา และเท้า ไล่ลงมาตามลำดับ
  2. ให้เช็ดย้อนรูขุมขน และเน้นประคบตรงหน้าผาก รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ เนื่องจากเป็นจุดที่เส้นเลือดใหญ่อยู่ใกล้ผิวหนังมาก
  3. เช็ดซ้ำ 3 – 4 ครั้ง และควรเปลี่ยนน้ำในกะละมังบ่อย ๆ จะช่วยระบายความร้อน
  4. หลังจากเช็ดตัวเสร็จ ซับตัวลูกให้แห้ง และให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย แล้ววัดไข้ในอีก 15 – 20 นาทีต่อมา (การวัดไข้ทางปากหรือรักแร้จะใช้เวลา 5 นาที)

 

 

no.8.1_thamyaangair_emuueluuktawrn.jpg

 

 

เคล็ดลับช่วยลดไข้อย่างได้ผล

  1. ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ ร่างกายจะได้ขับความร้อนออกมาทางปัสสาวะ
  2. ถึงแม้ลูกจะมีไข้สูงและหนาวสั่นก็ไม่ควรห่มผ้าหนา ๆ เป็นอันขาด เพราะจะทำให้ไข้ยิ่งสูง ที่ถูกต้องควรใช้ผ้าห่มที่บางเบา อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  3. ใช้น้ำอุ่นผสมมะนาวเช็ดตัวให้ลูก มีงานวิจัยรับรองแล้วว่าลดไข้ได้ไวขึ้นจริง

วิธีเหล่านี้เป็นแค่การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถ้าสังเกตว่าลูกยังมีอาการไม่ดีขึ้น เพื่อความปลอดภัยเราควรรีบพาไปพบแพทย์ จะได้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมาภายหลังค่ะ

เรียบเรียงโดย
พญ.ปรารถนา ปันทะ
นายแพทย์ชำนาญการ