Skip to main content
Search
Search

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลร้ายต่อเด็กอย่างไร

header_website.png

no.19-fun-pm-2.5-sngphlraaytedkyaangair-aw.jpg

 

 

อากาศเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องใช้ในการหายใจ การได้สูดอากาศบริสุทธิ์ย่อมทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สมองทำงานได้ดี แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนทั้งในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดไกล ๆ คุณภาพอากาศก็เหมือนจะแย่พอกัน เพราะมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน อากาศที่หายใจเข้าไปในแต่ละวันจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรรู้ถึงอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ที่ลอยอยู่ในอากาศ ว่ามีผลต่อร่างกายเด็กอย่างไร เพื่อจะได้ช่วยปกป้องลูกให้ปลอดภัยจากเจ้าฝุ่นนี้มากขึ้นนะคะ

PM 2.5 คืออะไร ทำไมเด็กถึงได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่?
PM 2.5 ย่อมาจากคำว่า Particulate Matter 2.5 คือฝุ่นละอองจิ๋วที่เป็นส่วนหนึ่งของมลพิษที่ลอยในอากาศ มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่าเส้นผมของคนเราถึง 25 เท่าเลยทีเดียว ด้วยความที่เล็กมาก ๆ มันเลยเข้าไปในร่างกายได้หลายช่องทาง ทั้งทางตา ผิวหนัง จมูก แพร่กระจายเข้าสู่สมอง หัวใจ และชั้นในสุดของปอดได้ง่าย ขณะเดียวกันยังสามารถจับตัวกับสารอื่น ๆ เช่น สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก แล้วพาเข้าสู่ร่างกายเราไปพร้อม ๆ กัน เหตุนี้มันจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับเด็กซึ่งมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่เนื่องจากปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปมากกว่านั่นเองค่ะ
เมื่อเด็ก ๆ ได้รับฝุ่นจิ๋วนี้สะสมเป็นเวลานาน อวัยวะต่าง ๆ จะเกิดอาการเหล่านี้

  • ตา ถ้าเข้าตาจะทำให้ระคายเคืองตา เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง แสบตา
  • จมูก เมื่อสูดเอาฝุ่นจิ๋วเข้าไป จะทำให้แสบจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ จาม
  • ผิวหนัง เมื่อสัมผัสผิวหนัง จะทำให้ผิวหนังอักเสบ ระคายเคือง อาจมีผื่นคันหรือลมพิษ
  • หลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอักเสบ และหลอดเลือดหดตัว
  • สมอง เมื่อเข้าสู่สมองของเด็ก รวมถึงทารกในครรภ์มารดา เซลล์สมองจะถูกทำลายจนส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญา เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ช้า เป็นโรคสมาธิสั้น มีภาวะออทิซึม หลอดเลือดในสมองตีบตัน
  • ปอด เมื่อเข้าสู่ปอดจะทำให้ปอดทำงานถดถอย ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา ไอบ่อยหายใจลำบาก แน่นหน้าอก ถ้าเป็นหวัดจะหายช้า ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หอบหืด มะเร็งปอด
  • หัวใจ มีอาการแน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ในระยะยาวจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในหลอดเลือดและนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และทำให้ทารกในครรภ์มารดาเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจพิการแต่กําเนิดด้วย

 

 

no.19-fun-pm-2.5-sngphlraaytedkyaangair-pic.jpg

 

 

ถึงฝุ่น PM 2.5 จะมีอยู่รอบตัว แต่ถ้าอยู่ในบ้าน เราก็ป้องกันได้ไม่ยากนะคะ เพื่อสุขภาพของเด็ก ๆ และตัวเราเอง เริ่มทำเลยค่ะ

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน หรืองดออกกำลังกายกลางแจ้ง
  • ใส่หน้ากาก N95 ถ้าไม่มีก็สามารถใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาได้ โดยใส่ให้แน่นสนิทกับใบหน้า และสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังมิดชิด
  • ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน และเปิดเครื่องฟอกอากาศลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ภายในบ้าน
  • หมั่นทำความสะอาดบ้าน เพื่อลดปริมาณฝุ่น การปลูกต้นไม้ที่ช่วยดูดซับฝุ่นละอองและก๊าซพิษในอากาศก็ช่วยได้เช่นกันค่ะ
  • ไม่สูบบุหรี่หรือจุดธูปเทียน และไม่ติดเครื่องยนต์เป็นเวลานาน ๆ ในบริเวณบ้าน

แม้หลาย ๆ ปัจจัยจะทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แก้ไขได้ยาก และดูไม่มีแนวโน้มจะลดลงแต่อย่างใด ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยปกป้องลูก ๆ ให้ปลอดภัยได้ก็คือ ป้องกันพวกเขาให้ได้รับมลพิษน้อยที่สุด เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวนะคะ

บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ