header_website.png

no.32_eruuengephsthiiluuktngruu_aw.jpg

เมื่อลูกเริ่มมีทีท่าสนใจใคร่รู้เรื่องเพศ และมีข้อสงสัยมากมายที่ต้องการคำตอบ คุณพ่อคุณแม่คงรู้สึกกระอักกระอ่วน ลำบากใจที่จะคุยไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ ถ้างั้นลองมาปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ มองว่าเรื่องเพศเป็นธรรมชาติของทุกคน ไม่ใช่เรื่องลามกอนาจาร อาจช่วยลดความขัดเขินที่จะพูดกับลูกได้นะคะ ยิ่งเวลาลูกถามแล้วเราตอบอย่างตรงไปตรงมา จะทำให้เขารู้จักธรรมชาติของชายหญิง พัฒนาการทางเพศ และการระมัดระวังป้องกันตัวเองมากขึ้นด้วยค่ะ สิ่งเหล่านี้แหละที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เขารับมือกับอันตรายที่จะมาคุกคามทางเพศได้
ปกติเด็กแต่ละวัยจะมีระดับความเข้าใจแตกต่างกัน ฉะนั้นการคุยเรื่องเพศกับลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาให้เหมาะสมตามวัยของเขาด้วยนะคะ มาดูกันค่ะว่าการคุยเรื่องเพศกับลูกแต่ละวัยให้เข้าใจนั้นต้องเป็นแบบไหน
เด็ก 3-4 ขวบ เริ่มสนใจความแตกต่างกันของสรีระร่างกาย แต่ยังแยกบทบาทระหว่างเพศไม่ได้ รู้จักเปรียบเทียบร่างกายของตัวเองกับคนรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่ควรตอบลูกสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย ไม่ต้องลงรายละเอียดลึกนะคะ เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจอะไรยาก ๆ
เด็ก 5-8 ขวบ เริ่มมีสังคมและเรียนรู้พฤติกรรมจากเพื่อน สนใจเรื่องเพศ แยกบทบาทระหว่างเพศได้ เช่น พ่อเป็นผู้ชาย แม่เป็นผู้หญิง วัยนี้จะฟังคำอธิบายที่ซับซ้อนได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรตอบให้เป็นรูปธรรมชัดเจน และสอนลูกให้รู้จักพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ควรให้ใครสัมผัส เพื่อช่วยป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ
เด็ก 9-12 ขวบ เป็นช่วงใกล้เข้าสู่วัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากขึ้น สนใจเพศตรงข้ามมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรคุยเรื่องความรักและเรื่องเพศตั้งแต่เนิ่น ๆ ให้ความใส่ใจลูกแต่ไม่จ้องจับผิด ตั้งใจฟังและแลกเปลี่ยนความคิดกับลูกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ปล่อยให้ลูกไปหาข้อมูลเองแบบผิด ๆ นะคะ เพราะอาจเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดตามมา ถ้าเจอข่าว ละคร หรือสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องเพศ ต้องรีบใช้ประเด็นนั้น ๆ พูดคุยและสอนลูกทันที หรืออาจตั้งคำถามให้ลูกเรียนรู้เรื่องเพศไปพร้อมกันด้วยค่ะ
ถ้าพ่อแม่ทำแบบนี้ ลูก ๆ ไว้ใจ คุยได้ทุกเรื่องชัวร์!
คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมพร้อมหลาย ๆ เรื่อง ทั้งความคิด ทัศนคติ ค่านิยม และข้อมูล เพื่อจะได้ช่วยเปิดมุมมองที่ถูกต้องให้ลูก และทำให้เขาเชื่อมั่น ไว้ใจ กล้าที่จะคุยกับเราได้ทุกเมื่อค่ะ
- ยอมรับ ไว้ใจ และเชื่อมั่นในตัวลูก
- ชวนลูกคุยและพร้อมรับฟัง ไม่นำเรื่องส่วนตัวของเขาไปพูดต่อ
- ไม่จ้องจับผิด ไม่ขุดคุ้ยเรื่องเก่า ไม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น และควรชื่นชมเมื่อเขาทำดี
- ไม่ล้อเลียน ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือทำให้ลูกรู้สึกอับอาย
- หมั่นสังเกตว่าลูกสนใจอะไร คบเพื่อนแบบไหน
- ไม่ข่มขู่ เพราะจะทำให้ลูกกลัว ไม่กล้าเข้ามาคุยเวลามีปัญหา
- เป็นแบบอย่างที่ดี แล้วลูกจะยอมรับและปฏิบัติตาม
พัฒนาการทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสื่อสารและส่งเสริมให้ลูกเข้าใจอย่างถูกต้องนะคะ ยิ่งกล้าคุยเรื่องเพศกับลูกเร็วเท่าไหร่ ลูกก็จะยิ่งมีข้อมูลและดูแลตัวเองได้เร็วขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญ อย่าวิตกกังวลกับสิ่งที่เราไม่รู้เมื่อลูกถาม เพราะการเรียนรู้และหาคำตอบร่วมกันกับลูกนั้นสำคัญกว่าเป็นไหน ๆ ค่ะ
บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ