header_website.png

no.17-edknnkrn-antraayaihm-aw.jpg

ผู้ใหญ่นอนกรนอาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าเด็กกรนนี่สิมันจะผิดปกติไหมนะ!? คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินเสียงกรนครอกฟี้ ๆ ของลูกน้อยตอนเขาหลับบ้างไหมคะ ถ้าลูกกรนเป็นประจำละก็ อาจไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างที่คิดเสียแล้วค่ะ เพราะหากเป็นการกรนที่มีภาวะหยุดหายใจและขาดออกซิเจน จะกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและร่างกายของเด็กเลยนะคะ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย เรามาสังเกตการนอนของลูกกันดีกว่า
ลูกนอนหลับแบบนี้ไม่ดีแน่ ๆ คุณพ่อคุณแม่อย่ามัวรีรอ รีบพาไปพบแพทย์
- กรนเสียงดังเป็นประจำ
- นอนกระสับกระส่าย หายใจเสียงดัง อ้าปากหายใจ เวลาหายใจเข้าหน้าอกจะบุ๋ม
- หยุดหายใจเป็นพัก ๆ ตามด้วยเสียงกรน หายใจหอบหรือหายใจเฮือก
- หายใจลำบากและเหงื่อออกมากขณะหลับ หลับไม่สนิท ตื่นกลางดึกบ่อย
- ปลุกตื่นยาก หลังตื่นนอนจะปวดหัวหรืออยากหลับต่อ ง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน
- ปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่เคยควบคุมได้มาก่อน
การนอนกรนในเด็กนั้นมีหลายสาเหตุ ได้แก่ ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นหวัดบ่อย มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกินมาตรฐาน ไขมันสะสมมากบริเวณลำคอและทรวงอก ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง การเคลื่อนไหวของหน้าอกแย่ลง มีขนาดทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ โครงหน้าและคางผิดปกติ ทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบ จมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ หรือปอดอักเสบเรื้อรัง มีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ จากโรคทางสมอง หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุอื่น มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม
no.17-edknnkrn-antraayaihm-pic.jpg

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อลูกหยุดหายใจขณะหลับ?
ถ้าลูกหลับแล้วไม่มีลมหายใจผ่านเข้าออกทางจมูกหรือปาก เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วินาที แสดงว่าเขาหยุดหายใจขณะหลับค่ะ ภาวะนี้ระดับออกซิเจนในเลือดจะต่ำและไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง โดยเฉพาะหัวใจ สมอง และปอด เมื่อออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่ง ร่างกายจะมีกลไกตอบสนอง โดยจะปลุกให้ตื่น มีอาการสะดุ้ง สำลักน้ำลายตัวเอง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ให้ออกซิเจนผ่านเข้าไปในปอด จากนั้นก็จะเริ่มหลับอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตลอดทั้งคืน ทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ การหายใจหอบเหมือนขาดอากาศบ่อยครั้ง จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กหลายอย่าง เช่น เจริญเติบโตช้า มีปัญหาในการเรียนรู้ หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อย สมาธิสั้น ง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวัน ปัสสาวะรดที่นอน ความดันสูง
รักษาด้วยวิธีไหน สงสัยจัง?
วิธีการรักษามีทั้งที่ใช้ยาและไม่ใช้ยา ขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลักค่ะ หากเด็กมีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะรักษาโดยใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก และอาจให้ยาแก้แพ้ร่วมด้วยกรณีที่เป็นภูมิแพ้ แต่ถ้าเกิดจากสาเหตุต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอย์โต หรือมีโครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าปกติ แพทย์อาจผ่าตัดเพื่อขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP) หรือชนิดแรงดัน 2 ระดับ (BiPAP) ช่วยหายใจ เพื่อป้องกันภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับด้วย
การนอนกรนนั้นส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของลูกหลายด้าน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตอาการนะคะ หากพบพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ ควรพาลูกไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อาการจะได้ไม่ถึงขั้นรุนแรง และอาจรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัดค่ะ
เรียบเรียงโดย
พญ.ปรารถนา ปันทะ
นายแพทย์ชำนาญการ