header_website.png

no.12-thamyaangairaihhaangaiklaikhhwadaelaaikhhwadaihy-aw.jpg

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่นั้นเป็นโรคภัยที่มาเยือนเราได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว และฤดูหนาวที่อากาศเย็น ๆ การออกไปพบปะผู้คนนอกบ้าน หรืออยู่ตามสถานที่แออัด มักเป็นสาเหตุหนึ่งของการติดเชื้อ ซึ่งบางทีเราก็หลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องด้วยปัจจัยหรือมีเหตุจำเป็นหลาย ๆ อย่างนั่นเอง ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้แบบนี้งั้นเราจะทำยังไงดีล่ะ? แน่นอน การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธีจะช่วยป้องกันได้มากเลยค่ะ วิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ ต่อไปนี้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ล้วนทำได้ ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลยค่ะ!
- ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำก่อนหยิบจับอาหาร เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกและเชื้อไวรัสออกจากผิวหนัง ซึ่งอาจติดมาจากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายจะได้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงไว้ต่อสู้กับเชื้อโรค
- ดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุกใหม่ ๆ จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือที่แออัดเป็นเวลานาน ๆ
- ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องคลุกคลีหรือใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านการไอ จาม หรือพูดสนทนา
- กรณีที่โดนฝน เมื่อถึงบ้านควรรีบอาบน้ำ สระผม เช็ดผมให้แห้ง สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น กินอาหารอุ่น ๆ ร้อน ๆ และเสริมภูมิคุ้มกันด้วยผลไม้วิตามินซีสูงอย่างฝรั่ง ส้ม แอปเปิล มะละกอ หรือวิตามินซีชนิดเม็ดด้วยก็ได้นะคะ ทั้งนี้หลังจากโดนฝนที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นหวัด ไม่สบาย หากยังไม่มีไข้ อย่ากินยาดักไข้ไว้ก่อนเด็ดขาด เพราะมันเป็นยารักษาตามอาการ ไม่ได้มีสรรพคุณช่วยป้องกัน จึงไม่จำเป็นต้องกินล่วงหน้า
- กรณีเป็นไข้หวัด ควรปิดปากขณะไอ จาม ด้วยกระดาษทิชชู แล้วนำไปทิ้งให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ซึ่งใน 1 เข็ม สามารถป้องกันได้ทั้ง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B โดยชนิดของวัคซีนที่ฉีดจะขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แพร่หลายในขณะนั้น หรือมีความเสี่ยงว่าจะระบาดในปีถัดไป แต่ทั้งนี้ก็มีกลุ่มคนที่ไม่สามารถรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกันนะคะ นั่นคือ คนที่แพ้ไข่ คนที่มีประวัติฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แล้วแพ้อย่างรุนแรง เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน คนที่มีโรคประจำตัวกำเริบ และคนที่กำลังมีไข้หรือมีการติดเชื้อเฉียบพลัน ดังนั้นถ้าหากกำลังเจ็บป่วย ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน
- หากมีไข้ติดต่อกันนานหลายวัน หรือมีอาการทรุดลงเรื่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ
no.12-thamyaangairaihhaangaiklaikhhwadaelaaikhhwadaihy-pic.jpg

วิธีต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่เพียงช่วยให้ร่างกายสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ห่างไกลจากไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ยังทำให้เรามีสุขภาพดีในระยะยาวอีกด้วยนะคะ
บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดยแพทย์ชำนาญการ