header_website.png

no.26_wakhchiinthiiedkcchamepn_aw.jpg

ปกติเด็กมักมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ จึงเป็นเรื่องธรรมดาค่ะที่ร่างกายจะไวต่อเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งถึงแม้เขาจะมีภูมิคุ้มกันตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ และได้รับเพิ่มจากการกินนมแม่แล้วก็ตาม แต่เพราะภูมิคุ้มกันนี้อยู่ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น เด็กจึงต้องได้รับวัคซีนเพิ่ม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกายปลอดภัยในระยะยาวนั่นเองค่ะ
วัคซีน ฮีโร่ที่ช่วยปกป้องเด็ก ๆ
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้แนะนำให้เด็กแต่ละวัยรับวัคซีนป้องกันโรคอันตรายดังนี้ค่ะ
เด็กแรกเกิด
- วัคซีนป้องกันวัณโรค(BCG) ฉีดให้เด็ก 1 เข็มก่อนออกจากโรงพยาบาล ช่วยป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรงในกลุ่มเด็ก ได้แก่ วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง และวัณโรคชนิดแพร่กระจาย
- วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) เข็มที่ 1 ฉีดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ที่เป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ
เด็กวัย 1 เดือน
- วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) เข็มที่ 2
เด็กวัย 2 เดือน
- วัคซีนรวม 5 โรค ได้แก่ คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ เข็มที่ 1
- วัคซีนป้องกันโปลิโอ ชนิดรับประทาน ครั้งที่ 1
- วัคซีนโรต้า ครั้งที่ 1
- วัคซีนนิวโมค็อกคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) เข็มที่ 1 (วัคซีนเสริม)
เด็กวัย 4 เดือน
- วัคซีนรวม 5 โรค ได้แก่ คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ เข็มที่ 2
- วัคซีนป้องกันโปลิโอ ชนิดรับประทาน ครั้งที่ 2
- วัคซีนโรต้า ครั้งที่ 2
- วัคซีนป้องกันโปลิโอ ชนิดฉีด
- วัคซีนนิวโมค็อกคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) เข็มที่ 2 (วัคซีนเสริม)
เด็กวัย 6 เดือน
- วัคซีนรวม 5 โรค ได้แก่ คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ เข็มที่ 3
- วัคซีนป้องกันโปลิโอ ชนิดรับประทาน ครั้งที่ 3
- วัคซีนโรต้า ครั้งที่ 3
- วัคซีนนิวโมค็อกคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) เข็มที่ 3 (วัคซีนเสริม)
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เข็มที่ 1 ให้เข็มที่ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นปีละ 1 ครั้ง (วัคซีนเสริม)
เด็กวัย 9-12 เดือน
- วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) เข็มที่ 1 (อายุ 9 เดือน)
- วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) เข็มที่ 1 ให้เข็มที่ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ (อายุ 12 เดือน)
- วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส (VZV) (อายุ 12 เดือน) (วัคซีนเสริม)
เด็กวัย 18 เดือน
- วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-โปลิโอ เข็มที่ 4
- วัคซีนป้องกันโปลิโอ ชนิดรับประทาน ครั้งที่ 4
- วัคซีนตับอักเสบเอ (HAV) เข็มที่ 1 ชนิดไม่มีชีวิต ให้เข็มที่ 2 ห่างกัน 6-12 เดือน (วัคซีนเสริม)
- วัคซีนนิวโมค็อกคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) เข็มที่ 4 (วัคซีนเสริม)
เด็กวัย 2-6 ปี
- วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) เข็มที่ 2 (อายุ 2-2½ ปี)
- วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) เข็มที่ 3 (อายุ 2-2½ ปี)
- วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน เข็มที่ 5 (อายุ 4-6 ปี)
- วัคซีนป้องกันโปลิโอ ชนิดรับประทาน ครั้งที่ 5 (อายุ 4-6 ปี)
เด็กวัย 11-12 ปี
- วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน กระตุ้น 1 เข็ม จากนั้นฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยักกระตุ้นทุก 10 ปี
- วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยฉีด 3 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน ฉีดได้ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย
no.26_wakhchiinthiiedkcchamepn_pic.jpg

ข้อควรระวังที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้
- ถ้าหากป่วยหรือมีไข้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน
- ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้งหากมีโรคประจำตัว แพ้อาหาร หรือแพ้ยา
- หลังรับวัคซีน ควรรอสังเกตอาการก่อนกลับบ้านประมาณ 30 นาที เผื่อเด็กมีอาการแพ้จากการรับวัคซีน
- ถ้าไม่ได้รับวัคซีนต่อเนื่องตามกำหนด ให้มารับวัคซีนต่อไปได้เลยทันที ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
- วัคซีนบางชนิดอาจทำให้เด็กมีไข้ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ยาน้ำลดไข้เด็กพาราเซตามอล และเช็ดตัวลูกได้ตามปกติ แล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง แต่ถ้าหากลูกมีอาการชัก มีไข้สูงมาก ควรพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
วัคซีนมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับเด็ก ๆ ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ละเลย ไม่พาลูกไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด อาจทำให้ลูกเสี่ยงต่อโรค และเจ็บป่วยจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ
เรียบเรียงโดย
พญ.ปรารถนา ปันทะ
นายแพทย์ชำนาญการ