repeat-dengue-header-image.jpg

แม้ว่าไข้เลือดออกจะเป็นโรคที่รักษาได้ แต่สำหรับใครที่เคยเป็นโรคนี้และหายสนิทแล้วก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจไปนะคะ เพราะไข้เลือดออกต่างจากโรคอื่น ๆ ตรงที่โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Den-1, Den-2, Den-3 และ Den-4 โดยหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันแค่เฉพาะสายพันธุ์นั้น ดังนั้นผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกจึงสามารถเป็นซ้ำได้อีกจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังไม่เคยเป็นนั่นเองค่ะ
ทำไมเมื่อเป็นไข้เลือดออกซ้ำจะมีอาการหนักกว่าเดิม?
เพราะเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อตัวใหม่ ร่างกายจะสับสนเชื้อดังกล่าวกับเชื้อตัวเดิม ทำให้เกิดการดื้อสู้กันระหว่างเชื้อไวรัสกับภูมิคุ้มกันจนผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นทรุดหนักหรือเกิดอาการช็อคได้ค่ะ
นั่งข้างคนที่เป็นไข้เลือดออก จะติดโรคมาได้หรือไม่?
ไม่ต้องห่วงค่ะ โรคไข้เลือดออกไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง แต่ต้องอาศัยยุงลายเป็นพาหะ ดังนั้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจึงต้องระมัดระวังไม่ให้มียุงมากัดซ้ำ เพราะอาจแพร่เชื้อดังกล่าวไปยังผู้อื่นผ่านทางยุงลายได้นั่นเองค่ะ
ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้เป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำ ?
การฉีดวัคซีนป้องกันเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของเราจากไข้เลือดออกได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกที่ได้ผลดีที่สุดก็ยังคงเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ นั่นคือป้องกันไม่ให้ตัวเราถูกยุงกัด โดยใช้โลชั่นหรือยากันยุงทาบริเวณผิว สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว หลีกเลี่ยงบริเวณที่มียุงชุมหรือมีน้ำขังซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค กำจัดน้ำขังทุกสัปดาห์ ติดตั้งมุ้งลวดในที่พักอาศัย หรือปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเสมอเพื่อไม่ให้ยุงเข้าบ้านค่ะ
แหล่งข้อมูล:
https://www.sciencedaily.com/releases/2011/12/111221151713.htm
https://www.cdc.gov/dengue/index.html
http://news.berkeley.edu/2011/12/21/dengue/
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/
ดูอย่างไร ให้รู้ว่าเป็นไข้เลือดออก ?
แม้ไข้เลือดออกจะเป็นโรคที่เราคุ้นหูกันมานาน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงสับสนระหว่างอาการของไข้เลือดออกกับไข้ชนิดอื่น ๆ จนอาจรับมือกับโรคนี้ได้ไม่ทัน และนำไปสู่อาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ในที่สุด วันนี้เรามาเตรียมตัวให้พร้อม ด้วยวิธีสังเกตแบบง่าย ๆ เพื่อให้รู้เท่าทันโรคไข้เลือดออกกันดีกว่าค่ะ
เราจะรู้ตัวได้อย่างไรว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ?
บางคนเข้าใจว่าการเป็นไข้เลือดออกนั้นจะต้องมีเลือดออกตามตัวเหมือนกับชื่อ แต่ความเป็นจริงแล้วอาการที่ว่านี้อาจไม่แสดงออกมาก็ได้ค่ะ โดยอาการเริ่มแรกของไข้เลือดออกนั้นก็เหมือนกับไข้หวัดธรรมดาที่เรารู้จักกันดี ต่างกันตรงที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกมักไม่ค่อยมีอาการไอและไม่มีน้ำมูก จึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นไข้เลือดออกเข้าใจผิด จนกระทั่งเริ่มมีอาการเลือดออกผิดปกติภายในช่วง 2-5 วันหลังจากมีไข้ เช่น มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำมีเลือดปน ดังนั้นหากใครมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวเย็นชื้น กระหายน้ำตลอดเวลา เหงื่อออกโดยเฉพาะในช่วงที่ไข้ลด สีผิวคล้ำลง มีผื่นแดงขึ้นที่บริเวณใบหน้า แขนขา และลำตัว และมีภาวะความดันเลือดต่ำแล้วล่ะก็ นั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ให้วินิจฉัยทันที เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจส่งผลถึงแก่ชีวิตค่ะ
ควรเฝ้าระวังและรักษาโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้นอย่างไร ?
เนื่องจากโรคไข้เลือดออกไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ดังนั้น หากคุณโดนยุงกัดหรือเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มียุงเยอะมา แล้วเกิดอาการไข้สูงติดต่อกันเกิน 3 วัน พร้อมกับมีอาการอ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย คลื่นไส้อาเจียน แต่ไม่ไอหรือมีน้ำมูก อาจสงสัยได้ว่าติดเชื้อไข้เลือดออก เมื่อมีอาการดังกล่าว สิ่งแรกที่ควรทำคือ รับประทานยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาลดไข้ชนิดที่ปลอดภัย ไม่กัดกระเพาะหรือทำให้เลือดออกง่าย ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ตามปริมาณยาที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของแต่ละคน และห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน และกลุ่ม NSAIDS เช่น แอสไพริน ไอบรูโพรเฟน เพื่อลดไข้โดยเด็ดขาด เพราะตัวยามีฤทธิ์ทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกง่ายขึ้นค่ะ
โดยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ให้เช็ดตัวลดไข้ และทานยาลดไข้ที่ปลอดภัย คือ พาราเซตตามอล ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบมารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที”
มียาหรือวัคซีนที่สามารถรักษาโรคไข้เลือดออกได้หรือไม่?
ปัจจุบันในบ้านเรามีวัคซีนต้านไวรัสไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์สำหรับผู้ที่มีอายุ 9-45 ปี ซึ่งช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออกและลดภาวะเลือดออกรุนแรงได้ แต่ยังไม่มียาสำหรับรักษาโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะให้การรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกไปตามอาการ โดยเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ควบคู่กับการให้สารอาหารชดเชยกับน้ำในร่างกายที่เสียไป เช่น ให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ ในปริมาณมาก และที่สำคัญคือให้ผู้ป่วยอยู่ในสถานที่ที่สะอาดและปลอดยุง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและการติดเชื้อแทรกซ้อน เมื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤติที่อาจมีภาวะความดันเลือดต่ำและเกล็ดเลือดต่ำไปแล้ว ผู้ป่วยก็จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัวและมีอาการดีขึ้นตามลำดับค่ะ
แหล่งข้อมูล:
http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs117/en/
https://medlineplus.gov/ency/article/001374.htm
http://www.riskcomthai.org/th/news/mass-media-detail.php?id=34563
โรคไข้เลือดออกอันตรายมากแค่ไหน ?
ไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่ระบาดในหลายพื้นที่ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลกถึงกว่า 390 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสำหรับในประเทศไทยนั้น ก็สามารถพบการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกได้ตลอดทั้งปี และไม่มีแบบแผนของการระบาดที่แน่ชัด
ตัวเลขของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยสำหรับปีนี้ (พ.ศ.2560) ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเนื่องจากนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยสะสมสูงกว่า 4 หมื่นราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 56 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560) นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 2,000 ราย และคาดว่าตลอดปีนี้น่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมากกว่าสถิติในช่วงปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา
ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวในช่วงที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว หากผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรงไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยอาการที่เป็นสัญญาณอันตราย ได้แก่ มีจุดเลือดออกตามตัว มือเท้าเย็น เหงื่อออกชื้น กระหายน้ำตลอดเวลา ปลายมือปลายเท้ามีสีคล้ำ รอบปากมีสีเขียว กระสับกระส่าย ชีพจรเบาเร็วจนจับชีพจรหรือวัดความดันไม่ได้ ปัสสาวะน้อยลง และบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือเกิดอาการช็อคเนื่องจากไข้สูงเฉียบพลันได้ค่ะ
ดังนั้น หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการของไข้เลือดออก ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดการเสียเลือดเพิ่มเติม เช่น การแปรงฟันแรง ๆ การเกาผื่นคัน รวมถึงห้ามรับประทานยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAIDS ซึ่งอาจทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดมีปัญหาได้ค่ะ
โรคไข้เลือดออก อาจจะเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับหลาย ๆ คน แต่ความจริงแล้วนั้นไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตหากผู้ป่วยรู้ตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เราก็จะหายจากโรคไข้เลือดออกได้ภายในเวลาไม่กี่วันเท่านั้นค่ะ
แหล่งข้อมูล:
http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs117/en/
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2792851/
ปราบยุงลายอย่างไรให้ได้ผล ?
หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่ายุงลายเป็นสาเหตุสำคัญของโรคระบาดที่เป็นอันตรายลำดับต้น ๆ ของโลกอย่างโรคไข้เลือดออก แต่ใครจะรู้ว่ายุงลายหนึ่งตัวนั้นร้ายกาจกว่าที่เราคิด เพราะแค่ผสมพันธุ์ครั้งเดียว ก็สามารถฟักไข่ได้ถึงกว่า 500 ตัว หากปล่อยให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ใกล้ตัว แน่นอนว่าความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้เลือดออกก็จะสูงตามไปด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้น วันนี้เราจึงได้รวบรวมวิธีดูแลบ้านและครอบครัวให้ปลอดภัยจากยุงลายอย่างง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ
ยุงลายมักวางไข่และฟักเป็นลูกน้ำในบริเวณที่มีน้ำขังเป็นน้ำนิ่งและใส ชอบออกหากินในเวลากลางวัน และมักแฝงตัวในผ้าสีทึบ ยุงลายสามารถวางไข่ได้นับตั้งแต่ในกระถางต้นไม้ อ่างน้ำ แจกันแก้วน้ำ ไปจนถึงบริเวณที่ที่มีน้ำขังเพียงน้อยนิด เช่น กระป๋อง โพรงไม้ ใบไม้ และถาดรองน้ำที่ตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศ วิธีการกำจัดน้ำขังที่ถูกต้องคือการเปลี่ยนน้ำในภาชนะทุก ๆ 7 วันโดยเทน้ำเก่าทิ้งให้หมด และใช้ฝาปิดให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่ รวมถึงอาจใส่ทรายอะเบทเข้าไปในภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อช่วยซับน้ำและกำจัดลูกน้ำ หรือเลี้ยงปลาในภาชนะเพื่อให้กินลูกน้ำก็ได้เช่นกัน แต่ถึงจะทำตามวิธีเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีข้อควรระวังเพิ่มเติมค่ะ เพราะไข่ยุงลายสามารถอยู่ในที่แห้งได้นานถึง 1 ปี และพร้อมจะฟักตัวและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีน้ำอีกครั้ง ดังนั้น เวลาที่กำจัดน้ำขังเราจึงต้องตรวจสอบให้ดีว่าสามารถกำจัดไข่ยุงลายได้อย่างหมดจด ไม่มีเหลือติดอยู่ตามขอบภาชนะค่ะ
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายคือการป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด ได้แก่ การทายากันยุงหรือสมุนไพร เช่น ตะไคร้ น้ำมันยูคาลิปตัส บริเวณแขนขาและลำตัว สวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว นอนในมุ้งลวด เพื่อป้องกันการถูกยุงกัด รวมทั้งอาจใช้เครื่องดักยุง หรือไม้ตียุงช่วยได้ในกรณีที่ในบ้านมียุงเป็นจำนวนมาก
แม้ปัจจุบันจะมีวัคซีนที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นไข้เลือดออกแล้ว แต่การกำจัดยุงลายซึ่งเป็นพาหะต้นเหตุของโรคก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามค่ะ เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอื่น ๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น โรคไข้ซิก้า และ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนย่า ได้อีกด้วย
เมื่อรู้เท่าทันยุงลายแบบนี้แล้ว...รับรองว่าปลอดภัยจากไข้เลือดออกแน่นอนค่ะ
แหล่งข้อมูล: